ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยอย่างมากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งดูแลสุขภาพประชาชนกว่า 47 ล้านคน กำลังอยู่ระหว่างเตรียมพิจารณาเพิ่ม ‘บริการสุขภาพเพื่อการยืนยันเพศสภาพหรือการข้ามเพศ’ เข้าเป็นสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ผู้ที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างปลอดภัย และไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งบางคนอาจต้องเจียดเงินรายเดือนกันเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อเดือนแค่เฉพาะค่ายาฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว

แน่นอน นี่ไม่ใช่สิ่งที่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลัน แต่เป็นผลจากการผลักดันมาอย่างยาวนาน และต่อเนื่อง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญเบื้องหลังการขับเคลื่อนให้ชุดบริการสุขภาพนี้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ก็คือ ‘คลินิกแทนเจอรีน’ คลินิกสุขภาพชุมชนเฉพาะทางสำหรับคนข้ามเพศแบบครบวงจรแห่งแรกของไทย

ที่ได้พาเรื่องนี้เดินหน้าจนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาชุดสิทธิประโยชน์กับทางโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) มาแล้วเมื่อปลายปี 2563

จากหมุดหมายแรกเริ่มตั้งแต่ก่อตั้งคลินิกในปี 2558 ที่อยากให้บริการสุขภาพเพื่อยืนยันเพศสภาพหรือการข้ามเพศเป็นสิทธิประโยชน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จนมาสู่ ‘วันฟ้าเปิด’ ที่ภาครัฐมีแนวโน้มตอบรับ

“The Coverage” ชวน กฤติมา สมิทธิ์พล หัวหน้าคลินิกแทนเจอรีน สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ย้อนสำรวจเส้นทาง มองดูความพยายาม และความหวังที่ผ่านมาที่อยากให้ บริการสุขภาพเพื่อการยืนยันเพศสภาพหรือการข้ามเพศสภาพ เข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการทุกคน

1

เสนอทุกบริการสุขภาพที่ควรมีสำหรับ ‘การข้ามเพศ’ เป็นสิทธิประโยน์ 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘HITAP’ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับ สปสช. ในการพิจารณาสิทธิประโยชน์เข้าสู่ระบบบัตรทอง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคประชาสังคมไปจนถึงกลุ่มนักวิชาการสามารถเสนอหัวข้อชุดบริการที่คิดว่าจำเป็นได้

ส่วนนี้เองทำให้ทางคลินิกแทนเจอรีนรวบรวมข้อมูลการให้บริการทุกอย่างที่มีตั้งแต่เปิดคลินิกแทนในปี 2558 เสนอเป็นชุดบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศที่ ‘ไม่เคยมี’ และ ‘ควรมี’ เข้าเป็นสิทธิประโยชน์โดยมีการนำเสนอร่วมกับผู้นำเสนอหัวข้อบริการอื่นๆ กว่า 10 หัวข้อจากกลุ่มภาคประชาสังคมเมื่อปลายปี 2563

ครานั้น เธอเล่าย้อนให้ฟังว่านอกจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของคลินิกแทนเจอรีนและข้อมูลอื่นๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ องค์กรที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ไปนำเสนอข้อมูลยังมีตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เข้าร่วมนำเสนอด้วย ซึ่งในการนำเสนอ ได้มีการตอบทุกข้อสงสัยต่อหน้าผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน และจัดลำดับความสำคัญจากประสบการณ์การให้บริการ และข้อมูลที่เก็บมา จนในที่สุดหลังจากที่มีการนำเสนอจนครบทุกหัวข้อที่ร่วมเข้าสู่การพิจารณาทั้งหมด เรื่อง ‘บริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ’ ก็ถูกยกมือโหวตจากผู้ร่วมนำเสนอ เข้าสู่ 1 ใน 5 เรื่องที่ทุกคนเห็นตรงกันว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

จนถูกนำไปศึกษาต่อโดย HITAP เพื่อพิจารณาอย่างรอบด้านอีกครั้งทั้งจุดคุ้มทุน จำนวนผู้เข้ารับบริการ ความจำเป็น สถานที่ให้บริการ ฯลฯ และก็ได้รับแจ้งกลับมาว่ายังมีข้อมูลบางอย่างที่จำเป็นต้องทำการวิจัยเพื่อหาคำตอบเพิ่มเติม ซึ่งต่อมาก็ได้มีการส่งต่อไปยังสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่เป็นผู้ดูแลทุนสำหรับการทำวิจัย

ขณะเดียวกันในระหว่างนั้นคลินิกแทนเจอรีนภายใต้ IHRI ก็ได้ประสานกับหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (Siriraj Health Policy) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำงานวิจัยทางนโยบายสุขภาพมาเป็นผู้ดำเนินการวิจัย ซึ่งได้มีการเซ็นสัญญารับทุนทำวิจัยกับ สวรส. ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมาด้วย

“กระบวนการกว่าจะมาถึงตอนทำการวิจัยใช้เวลาค่อนข้างนาน จำได้ว่ามีช่วงหนึ่งเราได้ทำจดหมายเชิญส่งถึงคนในชุมชนที่ทำงานขับเคลื่อนด้วยกัน ไปรอพบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในขณะนั้นที่ สปสช. เพื่อไปติดตามเรื่องนี้ เพราะหลังจากผ่านการโหวตในการนำเสนอหัวข้อสิทธิประโยชน์และผ่านขั้นตอนการทบทวนวรรณกรรมแล้ว ตอนนั้นไม่มีใครให้คำตอบเราชัดเจนได้เลยว่ากระบวนการต่างๆ ต้องดำเนินการอย่างไรต่อ และก็โชคดีที่วันนั้นได้พบกับอดีต รมว.สาธารณสุข รวมไปถึง นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.”

เธอเล่าว่าวันนั้นเป็นวันที่ ‘คุ้มค่าที่สุด’ เพราะจากการเจอผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายทั้ง 2 คน ภายในอาทิตย์นั้นก็มีการส่งจดหมายกลับมาว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป

‘ไกด์ไลน์’ บริการสุขภาพเพื่อคนข้ามเพศ ‘ฉบับแรกของไทย’

กฤติมา เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะเข้าไปนำเสนอกับ HITAP มีสิ่งหนึ่งที่จะตอบทุกคำถาม และแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในการขับเคลื่อนประเด็นได้ คือการได้ทำ ‘คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย’ ร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางและคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนข้ามเพศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รวมรวบแพทย์เฉพาะทางหลายด้านครอบคลุมทั้งในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่จากโรงเรียนแพทย์และองค์กรหลายแห่งมาทำงานร่วม ซึ่งต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย จนท้ายที่สุด ‘ไกด์ไลน์’ เพื่อการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศฉบับแรกของไทยก็เกิดขึ้นในปี 2563

“เรามองว่าการทำงานกับทางจุฬาฯ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากที่สุดในช่วงเวลานั้น และมีข้อดีที่องค์กรของเรามีพื้นที่ฐานการทำงานด้านเอชไอวีร่วมกับทางจุฬาฯ มาก่อน รวมถึงที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็มีการให้บริการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพอยู่แล้ว ที่น่าจะเป็นแห่งแรกๆ ของประเทศไทย ทางจุฬาฯ เขามีพื้นฐานประสบการณ์ และมีองค์ความรู้อยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายสำหรับการบริการผ่าตัดก็ดีมากๆ แต่ประชาชนยังเข้าถึงได้น้อยมาก”

2

ตอนนั้นเธอและทีมงานทำงานกันอย่างหนัก เพราะการเปิดคลินิกชุมชนลักษณะเฉพาะแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แม้ว่าจะมีเครือข่ายอยู่บ้าง แต่ก็ยังต้องเจอปัญหาหน้างาน ทั้งเรื่องการส่งต่อ การเข้าพบแพทย์เฉพาะทางที่ต้องมี ‘ความเข้าใจบริบทเรื่องเพศ’ โดยเฉพาะจิตแพทย์ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ รวมไปถึงศัลยแพทย์ หรือแพทย์ต่อมไร้ท่อ ฯลฯ

“เราและทีมงานทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างหนักเพื่อให้เกิดเป็นคู่มือเล่มนี้ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สามารถใช้งานได้จริงกับบริบทของประเทศไทยครอบคลุมการให้บริการทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ จนท้ายที่สุดแล้วคู่มือฉบับนี้ก็ได้กลายไปเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายประเทศนำไปไปใช้ เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ศรีลังกา พม่า ฯลฯ แม้ว่าในระดับโลกจะมีการออกไกด์ไลน์มาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เคยมีไกด์ไลน์ของประเทศไทยหรือของภูมิภาคนี้”

“คู่มือเล่มนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีคำตอบสำหรับการเข้าไปนำเสนอชุดสิทธิประโยชน์กับ HITAP ทำให้สามารถตอบคำถามกับสิ่งที่ยังไม่เคยมี รวมไปถึงนโยบายจากภาครัฐที่อาจจะยังมองไม่เห็นพวกเรา ตอบคำถามว่าการให้บริการสุขภาพเพื่อการยืนยันเพศสภาพหรือการข้ามเพศ ไม่ใช่แค่เรื่องของความงาม แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ”

มากกว่าความงาม คือ ‘ความปลอดภัย-ความจำเป็นด้านสุขภาพ’

ตลอดการผลักดันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอการตั้งคำถามจากคนจำนวนหนึ่งที่มองว่าการให้บริการสำหรับการยืนยันเพศสภาพหรือการข้ามเพศ ยังเป็นเรื่องของ ‘ความสวยงาม’ ซึ่ง กฤติมา อธิบายว่าผลจากการใช้ฮอร์โมนไม่ได้ทำให้ใครสวยหรือหล่อโดยตรง ไม่ได้ทำให้จมูกโด่งเป็นสัน ดวงตาโตขึ้น มีใบหน้าเรียวเล็ก หรือมีรูปร่างสัดส่วนที่สวยงามตามมาตรฐานความงามที่แต่ละสังคมอาจมองต่างกัน แต่ฮอร์โมนเป็นส่วนที่เข้าไปเติมเต็ม ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ ของบุคคลนั้นๆ ให้สมบูรณ์ขึ้น

“ฮอร์โมนอาจทำให้เกิดความละมุนขึ้น อาจจะทำให้มีหน้าอกขึ้น ผิวพรรณหรือมีลักษณะความเป็นหญิงเป็นชายมากขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วความสวยงามขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางกายภาพเดืมของแต่ละคนที่มีไม่เหมือนกัน และนิยามของความสวยงามเองก็แตกต่างกันในแต่ละบุคคลหรือความนิยมในแต่ละสังคม”

“คนข้ามเพศทุกคนอาจจะไม่ได้ต้องการใช้ฮอร์โมน หรือต้องการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ แต่การเข้าถึงฮอร์โมนเป็นความจำเป็นทางสุขภาพสำหรับผู้ที่ต้องการ และการเข้าไม่ถึงบริการตั้งแต่การให้คำปรึกษา หรือการให้คำแนะนำในการใช้ยาที่ถูกต้องทำให้เกิดความเสี่ยงจากการใช้ยาที่ต้องเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าแต่ละคนได้รับความรู้เรื่องการใช้ยา หรือฮอร์โมนมากน้อยแค่ไหน”

3

กฤติมา ขยายความต่อไปว่า ปัจจุบันการจำหน่ายยาเพื่อการยืนยันเพศสภาพ หรือการข้ามเพศ มีอยู่มากมายในหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งตรงนี้ยังมองไปยังเรื่อง ‘ความปลอดภัยในการใช้ยา’ ที่บางคนอาจมีการใช้อย่างไม่สมเหตุสมผล และแต่ละคนมีพื้นฐานทางสุขภาพไม่เหมือนกัน เช่น บางคนอาจมีโรคประจำตัวที่ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยา การเลือกใช้ยาและปริมาณการใช้ ยังส่งผลต่อเรื่องการเงินและค่าใช้จ่ายของบุคคลนั้นๆ ด้วย การได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องนอกจากจะช่วยลดอันตรายจาการใช้ยา ยังช่วยในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ

ฉะนั้น ความต้องการตั้งแต่แรกเริ่มของคลินิกแทนเจอรีนที่ต้องการให้บริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์นั้น ก็เพื่อต้องการให้ผู้ที่มีความประสงค์สามารถเข้าถึงบริการได้ตั้งแต่การเข้ารับคำปรึกษา การตรวจวัดระดับฮอร์โมนที่เป็นผลเฉพาะบุคคลเพื่อดูระดับฮอร์โมนที่เหมาะสมต่อร่างกาย

“บางครั้งอาจมีการใช้จ่ายที่เกินจำเป็นและอาจเสี่ยงต่อสุขภาพ บางคนมีโรคประจำตัว ซึ่งถ้าเรารู้ก่อนเราจะได้เตรียมว่าควรจะใช้ฮอร์โมนแบบไหน ปริมาณเท่าไหร่ แล้วในการใช้ก็ต้องมีการตรวจติดตามสุขภาพ หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องมีการตรวจระดับฮอร์โมนทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก และขณะเดียวกัน คนส่วนมากก็เข้าไม่ถึงบริการนี้ เพราะไม่ได้มีเป็นนโยบายทางสุขภาพออกมา”

ทุกอย่างมีอยู่แล้ว เหลือเพียง ‘ขยาย’ ให้ทุกคนที่ต้องการเข้าถึงได้ 

กฤติมา เผยว่า แท้จริงแล้วการให้ฮอร์โมนทดแทนเป็นบริการที่มีอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว แต่ถูกระบุเอาไว้สำหรับเป็นการให้บริการเพียงในกลุ่มชายหญิงที่ต้องการฮอร์โมนทดแทน เช่น ผู้หญิงในวัยทอง รวมไปถึงเด็กที่อาจมีภาวะที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนกับพัฒนาการทางร่างกาย

“โดยเฉพาะผู้ที่มีการผ่าตัดอวัยวะเพศเพื่อยืนยันเพศสภาพแล้ว แหล่งผลิตฮอร์โมนหลักในร่างกายจะหายไป ก็ยังต้องมีการใช้ฮอร์โมน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพ เช่นในกรณีหญิงข้ามเพศที่ผ่านการผ่าตัดแล้วอาจพบปัญหาแบบเดียวกับหญิงวัยทองที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้”

“สิ่งต่างๆ มีหมดแล้วแม้กระทั่งจะต้องเข้าไปตรวจที่ไหน แผนกอะไร การตรวจฮอร์โมนก็มีอยู่แล้ว การรักษาหรือการให้ฮอร์โมนทดแทนก็มีอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์แล้ว ฉะนั้นแทบไม่ต้องทำอะไรใหม่เลย นอกจากการขยายบริการให้คนข้ามเพศเข้าถึงได้”

5

สุดท้ายการลงทุนกับเรื่องนี้ไม่ได้ต้องใช้เงินมากขนาดนั้น เพราะมีหน่วยบริการที่ค่อนข้างพร้อมอยู๋แล้ว เพียงแค่ขยายขอบเขตการให้บริการจากเดิม และในแง่องค์ความรู้ก็มีคู้มือการให้บริการที่ค่อนข้างพร้อมสำหรับการฝึกอบรมบุคลากรเพิ่มเติม การลงทุนเรื่องสุขภาพในเชิงการป้องกัน อาจทำให้ไม่ต้องเสียเงินไปกับก้อนที่เป็นการรักษาที่อาจสูงกว่า แต่สิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้คือสุขภาพและคุณภาพชีวิตของปรชาชน

5 ข้อเสนอ ที่อยากให้บรรจุเป็น ‘สิทธิประโยชน์’

หลังจากที่มีสัญญาณจาก สปสช. เรื่องการบรรจุบริการสุขภาพสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศที่รวมถึงคนข้ามเพศเข้าในชุดสิทธิประโยชน์ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง สปสช. ซึ่งนำโดย นพ.จเด็จ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ติดต่อมาที่ IHRI เพื่อตั้งโต๊ะนัดคุยอย่างเร่งด่วนว่า ‘มีบริการสุขภาพอะไรที่ควรบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์’ ในระบบบัตรทองบ้าง

กฤติมา กล่าวว่า ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากตัวแทนชุมชนและองค์กรคนทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี 5 หัวข้อบริการหลักที่ได้เสนอไป ได้แก่ 1. การให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเปิดให้บริการกับประชาชนที่ต้องการเข้าใช้บริการ รวมไปถึงการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มเข้าสู่กระบวนการยืนยันเพศสภาพหรือการข้ามเพศ

2. การตรวจสุขภาพ หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่เกี่ยวข้อง 3. ยาที่ใช้ในการยืนยันเพศสภาพ หรือการข้ามเพศซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มเด็ก และผู้ใหญ่ 4. การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ และ 5. บริการทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิและกฎหมาย เช่น การให้คำปรึกษากรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกตีตราเลือกปฏิบัติ ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจ

เพราะทั้งหมดทั้งมวลนั้นเกี่ยวข้องกับ “สุขภาวะ” ที่กระทบทั้งสุขภาพและจิตใจ

“จากการพูดคุยกับ สปสช. ครั้งนี้ทิศทางค่อนข้างเป็นไปในทางบวก เพราะทางอาจารย์จเด็จก็มีข้อมูลจากการที่เราเคยเข้าไปยื่นหนังสือติดตามก่อนหน้านี้ และมีตัวแทนชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม และผู้ให้บริการจากโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ที่ให้บริการอยู่แล้วรวมถึงสมาคมเพื่อการพัฒนาสุขภาพบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลาย (ประเทศไทย) หรือ ThaiPATH ที่เพิ่งมีการก่อตั้งเร็วๆ นี้ มาช่วยสนับสนุน แต่ก็เข้าใจว่า สปสช. อาจจะต้องใช้เวลาเพื่อดูเรื่องงบประมาณและกฎข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างละเอียด”

“ถ้าฝั่งกำหนดนโยบายเอาด้วย อุปสรรคในการเข้าถึงบริการจะแก้ได้ง่ายขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ต้องการเข้าถึงบริการ เราพร้อมประสานและจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นให้ทุกอย่าง พร้อมตอบคำถาม พร้อมเข้าประชุม พร้อมจะหยุดภารกิจอื่นๆ เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ เราใส่ให้อย่างเต็มที่”

5

อย่างไรก็ตาม กฤติมา บอกว่าหากสุดท้ายการบรรจุชุดสิทธิประโยชน์ของทาง สปสช. ในครั้งนี้ไม่เกิดขึ้นจริง ก็ยังมีงานวิจัยที่ได้ร่วมกับศิริราช และ สวรส. ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่ แม้อาจจะต้องใช้เวลาเป็นหลักปี แต่ก็ยังถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการดำเนินการเพื่อบรรจุเข้าชุดสิทธิประโยชน์

มากไปกว่านั้นก็ยังมีทั้งคนในชุมชน องค์กรภาคประชาสังคมและภาครัฐหลายหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนการทำงานในประเด็นนี้ และพร้อมทำงานขับเคลื่อนในประเด็นนี้ต่อไปด้วยกัน

“งานวิจัยที่กำลังทำก็จะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ตอบคำถามระหว่างทางได้ แล้วก็จะถูกยื่นไปที่ สปสช. อีกครั้งเพื่อดูว่ามีอะไรบ้างที่สามารถทำได้จริง เสมือนเป็นอีกหนึ่งแผนสำรอง”

อยากเห็นบริการสุขภาพเพื่อคนข้ามเพศ เป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘ปฐมภูมิ’

สำหรับความหวังสูงสุดของคลินิกแทนเจอรีนตอนนี้ กฤติมา บอกว่าคือการได้เห็นบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศครบวงจรครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษาไปจนถึงการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพเป็นสิทธิประโยชน์ และก็อยากจะเห็นบริการเหล่านี้เป็นบริการแบบ ‘ปฐมภูมิ’ เพื่อให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ข้อมูลจากหลายปีก่อน มีการประมาณการว่าประเทศไทยมีหญิงข้ามเพศมากกว่า 3 แสนคน โดยยังไม่รวมจำนวนชายข้ามเพศ และผู้มีความหลากหลายทางเพศในกลุ่มอื่นๆ แน่นอนว่าตอนนี้จำนวนตัวเลขดังกล่าวอาจจะเพิ่มขี้น และการให้บริการเฉพาะในสถานบริการหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจจะไม่เพียงพอ ฉะนั้นบริการขั้นพื้นฐานบางอย่าง เช่น การให้คำปรึกษา การตรวจสุขภาพ ฯลฯ ควรสามารถทำได้ในบริการแบบปฐมภูมิ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากที่สุด และมีระบบการส่งต่อเมื่อเจอกรณีที่ซับซ้อนเข้าสู่หน่วยบริการที่มีศักยภาพต่อไป

สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุแก้คำนิยามว่าผู้ที่ต้องการข้ามเพศไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวช และต้องการให้บริการการยืนยันเพศสภาพเป็นส่วนหนึ่งในบริการของระบบปฐมภูมิ เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการ ฉะนั้นตรงนี้หากทำได้จะเป็นความก้าวหน้าในการ ‘รื้อถอนและสร้างใหม่’ ของระบบบริการสุขภาพได้

นอกจากนี้ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือตัวเลขผู้รับบริการคนข้ามของคลินิกแทนเจอรีนและคลินิกสุขภาพชุมชนในเครือข่าย ปัจจุบันมีมากกว่า 1 หมื่นราย จึงเป็นคำถามต่อมาว่า 'หากคลินิกชุมชนสามารถทำได้ แล้วรัฐจะไม่สามารถหรือ?'

“เราอาจจะมีชุดบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศหลายอย่างที่อยากให้ประชาชนเข้าถึงได้ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ เราไม่ห่วงเพราะสถานบริการหลายแห่งอยู่แล้ว แต่ในพื้นที่อื่นๆ นอกจาก กรุงเทพฯ ก็อยากให้มีการจัดบริการให้อย่างน้อยมีในขั้นพื้นฐาน แต่ก็อาจจะต้องค่อยๆ เริ่มกันไปตามบริบท และความพร้อมของแต่ละพื้นที่”

“ขอขอบคุณชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ และผู้ให้การสนับสนุนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ซึ่งอาจไม่ได้กลาวชื่อทุกท่าน”