ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากเอ่ยถึงแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ที่มาแรง และอยู่ในกระแสมากที่สุดในช่วงระยะหลังมานี้ ย่อมหนีไม่พ้น "TikTok" แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นชื่อดังระดับโลก ที่เชื่อได้ว่าหลายคนคงใช้เวลาไม่น้อยไปกับการ "รับสาร" รวมทั้ง "สื่อสาร" เนื้อหาต่างๆ ผ่านช่องทางนี้

ในยุคที่เครื่องมือสื่อสารอยู่ในมือของทุกคน อิทธิพลของเนื้อหาที่อยู่ตรงหน้าจึงมีความสำคัญ และสร้างผลกระทบให้กับผู้คนได้ทั้งทางบวกและทางลบ ... ทว่าโดยที่เราไม่คาดคิด ปัญหาต่างๆ นานาที่ส่งผลต่อ "สุขภาวะ" ของผู้คน ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ร่างกายไปถึงจิตใจ ก็ค่อยๆ ปรากฏขึ้นให้เห็นเป็นระยะในสังคม

4

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดแพลตฟอร์ม TikTok ก็ได้ออกมาสื่อสารถึงความพยายามในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ผ่านแคมเปญ TikTok Safety Day ที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมเชิงบวก ด้วยการให้ความรู้ด้านดิจิทัลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมสุขภาวะดิจิทัล และสุขภาพจิตที่ดี เพื่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยบนโลกดิจิทัล

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โฆษกกรมสุขภาพจิต และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต ให้ความเห็นว่า ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การสร้างสมดุลที่ดีระหว่างความเพลิดเพลินทางดิจิทัล และสุขภาวะทางจิตใจที่ดี เป็นสิ่งสำคัญ

ทั้งนี้ เขายังเป็นหนึ่งใน Safety Advisory Councils (SAC) ที่ TikTok จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระจากทั่วโลก มาให้คำแนะนำในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยบน TikTok ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นอยู่ที่ดีในโลกดิจิทัล สุขภาพจิต การปกป้องผู้เยาว์ และการตอบโต้กลโกงและการฉ้อโกง โดยที่ TikTok สามารถนำมาใช้ในการพัฒนานโยบายด้านความปลอดภัยได้

4

“แม้ว่าการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมากเกินไปจะเป็นข้อกังวลที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็น TikTok มีการใช้เครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ใช้ควบคุมการใช้งานแพลตฟอร์มอย่างเหมาะสม และสนับสนุนสุขภาวะที่ดี” ดร.นพ.วรตม์ ระบุ

สำหรับความปลอดภัยในแง่ของ สุขภาวะดิจิทัล และการให้ความรู้ทางด้านดิจิทัล (Digital Wellbeing and Digital Literacy) TikTok ได้มีการออกแบบเครื่องมือ "Screen Time Management" ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการใช้งานแพลตฟอร์ม กำหนดการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอที่เหมาะสมได้

ขณะเดียวกันยังมี "Digital Literacy Hub" เป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทั้งยังให้ข้อมูลเชิงลึกที่รวมถึงกรณีศึกษาที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพจิต และสุขภาพทางไซเบอร์ พร้อมคำแนะนำเชิงปฏิบัติเพื่อรับมือกับความกังวลในโลกออนไลน์ และพฤติกรรมหลอกลวงต่างๆ

4

ในด้าน ความปลอดภัยของผู้เยาว์ (Minor Safety) ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ TikTok ให้ความสำคัญ โดยได้นำความคิดเห็นของผู้ปกครองมาพัฒนาเป็นเครื่องมือ เช่น "Family Pairing" ซึ่งช่วยให้ผู้ปกครองปรับแต่งตัวกรองเนื้อหาสำหรับบุตรหลานของตนเองได้ นอกจากนี้ยังได้นำเสนอ "Content Level" ฟีเจอร์ที่ช่วยคัดกรองความเหมาะสมของเนื้อหาสำหรับเด็กอายุ 13-17 ปีโดยเฉพาะ

พร้อมกันนั้นยังได้จัดตั้ง "Youth Consultation" ภายใต้ความร่วมมือกับ iNet และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เป็นเวทีรับฟังประสบการณ์ของผู้ใช้แพลตฟอร์มโดยตรง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลง พร้อมดึงกลุ่มวัยรุ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ปลอดภัยที่สุดให้กับทุกคน

สุดท้ายในแง่ของ การต่อต้านข้อมูลที่บิดเบือนไม่เป็นความจริง (Anti-Misinformation) TikTok ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะปกป้องผู้ใช้งานให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ พร้อมต่อต้านข้อมูลที่บิดเบือนและเป็นเท็จ สแกมและกลโกงต่างๆ โดยทุ่มเทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยมากกว่า 40,000 คน ในการทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ ผ่านการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ เช่น ศูนย์กลางข้อมูล (Information Hub), Information Tag, และ Live Banner

4

ขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้ผู้ใช้งานสามารถรายงานการหลอกลวง หรือกิจกรรมที่ต้องสงสัยว่าเป็นการฉ้อโกงโดยทันที ผ่าน Self Report ภายใต้หัวข้อ “การฉ้อโกงและการหลอกลวง” เพื่อช่วยให้ทีมรักษาความปลอดภัยของแพลตฟอร์มสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรายงานแต่ละฉบับได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดและจะถูกดำเนินการตามความเหมาะสมตามข้อเท็จจริงที่ค้นพบ

นอกจากนั้น TikTok ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก เช่น สำนักข่าว Agence France-Presse (AFP) หรือศูนย์ COFACT ประเทศไทย เพื่อร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อต้านข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เป็นการรักษามาตรฐานของแพลตฟอร์มให้เชื่อถือได้และมีความรับผิดชอบ

ปัจจุบัน TikTok ได้เปิดตัวแคมเปญ “Trust” เพื่อมุ่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาวะดิจิทัลที่ดี ซึ่งประกอบด้วย โครงการริเริ่มการให้ความรู้และเวิร์กช็อปด้านความปลอดภัยให้กับผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น TikTok Safety Day ที่ช่วยส่งเสริมการสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มอย่างปลอดภัย และแคมเปญ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด ใน Digital Literacy Hub ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล โดยคอนเทนต์ในแคมเปญดังกล่าวมียอดการชมรวมกว่า 600 ล้านครั้ง

4

สิริประภา วีระไชยสิงห์ Outreach and Partnerships Lead, Trust and Safety จาก TikTok ระบุว่า การใช้นโยบายความปลอดภัย การร่วมมือกับพันธมิตร และการริเริ่มกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ในแคมเปญ Trust นับเป็นส่วนสำคัญในความพยายามอย่างต่อเนื่องของ TikTok ที่จะสร้างความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มให้กับทุกคน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเพลิดเพลินกับ TikTok ได้อย่างมั่นใจ

“TikTok ไม่ได้เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นในเรื่องของความปลอดภัย ต่อต้านเนื้อหาและข้อมูลที่เป็นเท็จหรือบิดเบือด อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้ มีความโปร่งใสและรับผิดชอบ ที่พร้อมส่งเสริมและยกระดับความรู้และสุขภาวะดิจิทัลที่ดีให้แก่ทุกคน” สิริประภา ยืนยันทิ้งท้าย