ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทุกคนรู้ดีว่าการเรียนของ “นักศึกษาแพทย์” เป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการ

ทุกคนรู้ดีว่า “นักศึกษาแพทย์” จะเป็นที่พึ่งให้เขาได้ในยามเจ็บป่วย

ทุกคนรู้ดีว่า “นักศึกษาแพทย์” คือความหวังของประเทศไทยในอนาคต

แต่ทุกคนอาจไม่รู้เลยว่าชีวิตของนักศึกษาแพทย์ระหว่างการเรียนเกือบ 10 ปี ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และพอมารู้แต่ละทีก็มาจากหน้าข่าวซึ่งเกิดเรื่องที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นไปแล้ว

ในงานสมัชชาสุขภาพจิตนิสิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและเยาวชน ประจำปีการศึกษา 2566 (White coat’s Mental Health Assembly) หรืองาน “กาวน์ใจ” ที่จัดขึ้นเมื่อ 12 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมของนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้งนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาเภสัชกร และนักศึกษาทันตแพทย์ มารวมกลุ่มกันพูดคุยถึงความเครียดจากการเรียน ผลกระทบไปสู่ชีวิตส่วนตัว แลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้กำลังใจระหว่างกัน พร้อมกับทำกิจกรรมให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายไปสู่ผู้รับผิดชอบ เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาความเครียดของนักเรียนแพทย์ที่ต้องเจอ 

“The Coverage” มีโอกาสได้พบกับสองนักศึกษาแพทย์ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าในงานนี้ คือ ฟิล์ม หรือ นศพ.วศิน วคินเดชา นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และ สีน้ำ หรือ นศพ.ณิชา ศิวะสมบูรณ์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 ที่เป็นแกนหลักร่วมกับเพื่อนๆ นักศึกษาด้วยกันในนาม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุุปถัมภ์ฯ (สพท.) ที่ร่วมจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา โดยได้พูดคุยถึงความเครียดของชีวิตนักศึกษาแพทย์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอีกแง่มุมที่แสงของสังคมอาจส่องไม่ถึง

4

ชีวิตนักเรียนแพทย์ ที่เขาว่าเรียนหนัก หนักยังไง ? 

ฟิล์ม : การเรียนของผมก็ไม่ได้หนักขนาดนั้นครับสำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 หรือชั้นพรีคลินิก แต่ว่าก่อนหน้านี้ในชั้นปีที่ 1 เกือบทั้งหมดจะเป็นการเรียนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งหมด เราก็ต้องเรียนและทบทวนทำความเข้าใจอย่างละเอียดกับอาจารย์ทั้งหมดเลยครับ ต้องจำให้ได้ทุกอย่าง และเน้นไปทางเลกเชอร์ในห้องเรียนเป็นส่วนใหญ่ครับ 

พอขึ้นมาชั้นปีที่ 2 ก็จะหนักขึ้นมา เพราะเราต้องจำชื่อและการทำ งานในระบบทุกส่วนของร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อ เส้นประสาท เส้นเลือด แม้แต่รอยหยักในสมองที่มีพี่รู้มั้ยครับว่ามีกี่รอยหยัก คำตอบคือหลายสิบรอยหยักเลยครับ และแต่ละรอยหยักก็มีชื่อเรียกเฉพาะ แต่พวกเราชั้นปีที่ 2 ต้องจำให้ได้ทั้งหมด และต้องจำและเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของรอยหยักสมองด้วยครับ 

แล้วเมื่อมาถึงชั้นปีที่ 3 ตอนนี้ ก็ต้องเรียนหนักมากขึ้นแล้วครับ และโฟกัสมาที่โรคและการรักษา รวมไปถึงศึกษาเกี่ยวกับความผิดปกติของร่างกาย การใช้ยาเพื่อรักษาโรคต่างๆ ก็เรียนเช้าไปถึงเย็นหรือค่ำเลยก็มี 

แต่ที่สำคัญจะมีสอบครับ ถ้าสอบติดต่อกันก็จะเครียดพอดูเลย เพราะว่าต้องอ่านหนังสือหนักกันจริงๆ เพราะการสอบของนักศึกษาแพทย์ รวมถึงนักศึกษาเภสัช หรือนักศึกษาทันตกรรม  แม้แต่นักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก็ถือว่าเป็นเรื่องหนัก ที่เราจะพลาด หรือทำผิดไม่ค่อยได้ครับ

สีน้ำ : ส่วนของหนูอยู่ชั้นปีที่ 5 หรือเรียกว่าชั้นคลินิกค่ะ ซึ่งนักศึกษาแพทย์จะต้องทำหน้าที่ออกเรียนรู้การตรวจผู้ป่วยกับอาจารย์แพทย์ในทุกๆ วัน หรือที่เรียกว่าราวน์คนไข้แล้วค่ะ บางคนอาจเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้า หรือไม่เกิน 7 โมงค่ะ 

แต่จะช้าจะเร็วกว่านี้ก็อยู่ที่แต่ละโรงเรียนแพทย์ ที่อาจารย์แพทย์ และนักศึกษาแพทย์จะต้องมาดูแลผู้ป่วยใน (IPD) พร้อมกับแพทย์เฉพาะทาง แต่ชั้นปีที่ 4 ก็ยังไม่มีความรู้เท่าไหร่มาก ต้องอาศัยการจดจำและดูแนวทางของรุ่นพี่ชั้นปีที่ 5 และอาจารย์แพทย์ รวมถึงแพทย์เรสซิเดนท์ (แพทย์ประจำบ้าน) ที่ออกตรวจด้วยกัน 

พอมาอยู่ชั้นปีที่ 4 แล้วก็จะมีการอยู่เวรในโรงพยาบาลร่วมกับรุ่นพี่ กับแพทย์เรสซิเดนท์ด้วย โดยบางวันหลังจากเลิกราวน์ 4 โมงเย็น ก็จะไปต้องอยู่เวรต่อถึงเที่ยงคืน แล้วตื่นเช้าไปราวน์คนไข้ตอนเช้าต่อเลย ส่วนปี 6 จะต้องอยู่เวรข้ามคืน เหมือนแพทย์จริงๆ เลยค่ะ 

แต่ถ้ามีสอบ ช่วงเช้าก็อาจต้องไปราวน์คนไข้ก่อนค่ะ บันทึกอะไรเสร็จแล้วก็ต้องรีบไปสอบต่อให้ทัน แต่ยังไม่นับที่ต้องอ่านหนังสือก่อนสอบ แล้วก็ต้องอยู่เวรดูแลคนไข้ด้วยค่ะ ก็หนักเหมือนกันสำหรับชีวิตนักศึกษาแพทย์

ด้วยความเป็นนักศึกษาแพทย์ ก็จะเครียดช่วงใกล้สอบเป็นธรรมดา หากมีการอยู่เวรกันก่อนสอบอีก ก็จะกังวลมากขึ้นค่ะ เพราะกลัวว่าจะอ่านหนังสือไม่ทัน แต่วันอื่นๆ ที่ไม่ใช่ช่วงสอบก็ปกติดีค่ะ ได้ความรู้ตอนอยู่เวรเยอะดี 

บางเดือนหนูก็ไม่เห็นแสงอาทิตย์เลยก็มี แต่ว่าก็ยังสนุกดีค่ะ ก็ไหวแหละ มาถึงขนาดนี้แล้ว แต่บางทีก็อยากมีชีวิตของตัวเองเหมือนกัน อยากไปออกกำลังกาย ทำกิจกรรมเหมือนกับคนอื่นบ้าง แต่สุดท้ายเราก็ต้องบริหารเวลาตัวเองให้ดีค่ะ ก็จะเป็นการช่วยตัวเองอีกด้านหนึ่ง 

ฟิล์ม : แล้วพวกเราเป็นนักศึกษาแพทย์ของ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ก็จะแตกต่างนิดหน่อยกับโรงเรียนแพทย์อื่นๆ เพราะต้องมีฝึกทางทหารด้วยครับ ทั้งความแข็งแรงของร่างกาย แนวปฏิบัติของทหาร ซึ่งก็จะมีความหนักเพิ่มขึ้น 

สีน้ำ : ใช่ค่ะ อย่างพอขึ้นชั้นปีที่ 2 ก็จะเริ่มมีการฝึกทางทหาร แล้วก็จะมีการทบทวนตามระยะตามมา ควบคู่ไปกับการเรียนด้วยเลยค่ะ 

ฟิล์ม : แล้วสำหรับชั้นพรีคลินิกยังต้องสอบใบ National Lisense หรือที่เรียกว่าสอบ NL ของนักศึกษาแพทย์ คือการประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา ซึ่งเมื่อถึงชั้นปีที่ 3 ก็ต้องสอบ และต้องสอบทุกปี ซึ่งก็ยากมากๆ ครับ 

สีน้ำ : สอบใบ NL เหมือนกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลย ความเครียดมันระดับเบอร์นั้น

1

เครียดอย่างนี้ คลายเครียดกันยังไง ? 

ฟิล์ม : ผมเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ครับ ก็จะชอบทำงานกันแบบเป็นหมู่คณะ ทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน ก็จะใช้โอกาสนี้แหละครับผ่อนคลายไปในตัว เพราะรู้สึกสนุก โดยเฉพาะกับงานระหว่างโรงเรียนแพทย์ด้วยกันที่ได้มาช่วยเหลือ หรือรู้จักกันผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองการเรียน การใช้ชีวิตด้วยกัน มันก็เหมือนกับได้ระบายออกมาบ้างครับ 

สีน้ำ : ก็คล้ายๆ กันค่ะ ทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนในคณะ กับสโมสรของคณะ หรือทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ นักศึกษาแพทย์ด้วยกัน นักศึกษาเภสัช และนักศึกษาทันตะ ด้วย ที่ก็เจอกับความเครียดเหมือนๆ กัน 

แต่ความเครียดและความท้อจากการเรียนแพทย์ที่ได้เจอ บางครั้งพอมองย้อนกลับไปมันก็ไม่อยากทิ้งค่ะ เพราะที่ผ่านมาก็ทำให้เราได้ฝึกอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งการจัดการเวลาชีวิต การรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น รวมถึงทัศนคติต่ออาชีพหมอที่เปลี่ยนไปตามชั้นปีที่เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ 

อีกอย่าง พอได้คุยกับเพื่อนจากทันตฯ หรือเภสัชฯ ก็ได้รับรู้ว่า อาชีพทางสายวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่างพวกเรา มันก็มีความเครียดเหมือนกัน หลายคนเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตตามมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะพวกเราคือนักศึกษาแพทย์ ที่ต้องออกไปทำงานดูแลผู้ป่วย แต่หากกลับมาป่วยเองก็คงอาจไม่ใช่เรื่องดีต่อผู้ป่วยสักเท่าไหร่ 

5

โรงเรียนแพทย์ ดูแลนักเรียนแพทย์กันอย่างไร 

ฟิล์ม : บางคณะแพทยศาสตร์ในบางแห่ง เขาวางระบบการดูแลนักศึกษาดีมากครับ มีการเตรียมจิตแพทย์คอยให้คำปรึกษา และสามารถไปเคาะห้องได้เลยตลอด 24 ชั่วโมงหากเครียด แต่อีกหลายแห่งก็ไม่มีระบบอะไรที่จะคอยช่วยเหลือเลย ทำให้นักศึกษาอาจรู้สึกโดดเดี่ยว

บางสถาบัน มีสโมสรนักศึกษาในแต่ละคณะแพทยศาสตร์ ที่ดูแลความเป็นอยู่ของนิสิตนักศึกษา แต่บางครั้งเมื่อมีการแจ้งเรื่องต่อไปยังสถาบันก็อาจจะไม่มีใครดำเนินการต่อ หรือแจ้งไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้เข้ามาดูแล ซึ่งด้วยความเป็นสโมสรนักศึกษาก็ไม่ได้มีแรงสนับสนุนมากพอ หรือมีงบประมาณที่จะเข้ามาดูแลขับเคลื่อน ก็ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนนักศึกษาไม่ได้มาก 

สีน้ำ : ยกตัวอย่างคณะแพทย์ฯ ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ทางสถาบันจะมีการจัดจิตแพทย์เวียนกันเป็นช่วงเวลามาดูแลนักศึกษา รวมถึงช่วงที่มีการสร้างตึกหอพักใหม่ ก็จะมีอาจารย์แพทย์ที่เข้ามาอยู่ด้วย หากนักศึกษามีปัญหา ก็สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ทันที 

เรียนก็หนัก แล้วอนาคตก็ต้องทำงานหนักด้วย กังวลบ้างหรือเปล่า

ฟิล์ม : ก็ไม่กังวลครับ เป็นเรื่องที่ต้องเจอ แต่ว่าหากในอนาคตมีการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงระบบการทำงานของแพทย์ รวมถึงนักศึกษาแพทย์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ก็เชื่อว่างานไม่น่าจะหนักหากเป็นระบบที่ดี และทำให้แพทย์ หรือนักศึกษาแพทย์มีเวลาส่วนตัวเพื่อบาลานซ์ชีวิตตัวเองได้ 

5

เพราะปัญหาเหมือนๆ กัน นศ.สายวิทยาศาสตร์สุขภาพฯ จึงมาร่วมกันแก้

ฟิล์ม : ใช่ครับ เราจึงเกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายระหว่าง สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุุปถัมภ์ฯ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย (สนทท.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) ซึ่งก็รวมกันทั้งหมด 26 สถาบัน และยังไม่นับรวมกับคณะอื่นๆ ในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพอีกจำนวนหนึ่ง 

ในปีนี้ เราเพิ่มกิจกรรม ‘กาวน์ใจ’ เพื่อให้นักศึกษาได้มาเจอกัน ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และนำไปปรับใช้ในคณะของตัวเอง เพื่อลดทอนความเครียดจากการเรียนหนักที่พวกเราเจอ 

โดยเฉพาะทีมสโมสรนักศึกษาของแต่ละคณะครับ จะได้เข้ามาเรียนรู้ และจำลองสถานการณ์เหตุการณ์จากกิจกรรม เพื่อใช้เครื่องมือต่างๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนๆ นักศึกษาแพทย์ เภสัช ทันตะด้วยกัน

อีกอย่าง ที่ผ่านมาเราเคยเห็นข่าวนักศึกษาแพทย์ฆ่าตัวตายเพราะเรียนหนัก เกิดจากความเครียดต่างๆ แล้วเราทำได้เพียงออกแถลงการณ์เสียใจเท่านั้น ทั้งที่พวกเราก็อาจทำได้มากกว่า ด้วยการมีส่วนในการช่วยเหลือกันและกันในด้านจิตใจให้มากขึ้น 

สีน้ำ : กิจกรรมของพวกเราทั้งจาก 26 สถาบัน ที่ทำร่วมกัน ก็ยังช่วยให้นักศึกษาทั้ง 3 สายวิชาที่ต้องดูแลผู้ป่วยร่วมกันในอนาคต ได้มารู้จักกัน รวมถึงได้ลองทำกิจกรรมจำลองเหตุการณ์รักษาผู้ป่วย เพื่อให้ได้เรียนรู้ระหว่างกันว่าแต่ละสายวิชาชีพทำหน้าที่อะไรบ้าง 

อย่างเช่นถ้ามีอุบัติเหตุมา นักเรียนแพทย์จะดูความเสียหาย ประเมินอาการ รักษา และดูว่าหากมีช่องปากเสียหายก็จะส่งให้นักเรียนทันตะ ดูต่อ รวมถึงต้องใช้ยาอย่างไร ก็จะส่งแนวทางการใช้ยาให้กับนักเรียนเภสัช นักเรียนเภสัช ก็จะมองว่าการใช้ยาถูกต้องกับผู้ป่วยหรือไม่ ต้องรักษาอย่างไร 

แล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ทั้งด้านวิชาการ ที่ตอบโจทย์พวกเราอยู่แล้ว แล้วยังมีโครงการค่ายวิจัย แนะแนวข้อสอบ สอนการเป็นผู้นำ การจัดการในด้านต่างๆ 

ยังมีกิจกรรมสัมพันธ์องค์กร เสริมสร้างความสัมพันธ์ รับน้องปีหนึ่งร่วมกันในกลุ่มนักศึกษา และยังมีกิจกรรมของสโมสรแต่ละคณะที่มารวมกัน เพื่อทำกิจกรรม แลกเปลี่ยน การบริหารจัดการองค์กรสโมสรแต่ละแห่งร่วมกัน 

5

ในมุมนักเรียนแพทย์ คาดหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงไหม 

ฟิล์ม : แน่นอนครับ ถ้ามีการจัดการที่ดี มีการกำหนดการเรียนของนักศึกษาแพทย์อย่างชัดเจน และมีเวลาเพียงพอที่จะเพิ่มเติมความรู้ ก็จะช่วยให้นักศึกษาแพทย์อาจไม่ต้องเครียดจากการเรียนหนักมากจนเกินไป

เพราะหากสุขภาพจิตของนักศึกษาดีขึ้น ก็จะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น และนำความรู้ความสามารถไปรักษาและดูแลผู้ป่วยได้อย่างดี 

สีน้ำ : ตอนนี้เราก็พยายามรวบรวมความคิดเห็นจากกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะได้เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือกรมสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนหลักสูตร หรือเป็นข้อกำหนดสำหรับนักศึกษาแพทย์ว่าจะต้องเป็นมาตรฐานแบบใดที่จะเข้ามาช่วยลดความเครียดได้

แล้วประชาชนทั่วไป จะช่วยนักเรียนแพทย์ หรือว่าที่แพทย์ในอนาคตได้บ้างไหม 

ฟิล์ม : ในมุมหนึ่งหากได้เห็นว่านักเรียนแพทย์ก็มีความเครียด และอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้เหมือนกัน แต่อีกด้าน เราเองก็พยายามช่วยเหลือและดูแลกันเอง รวมถึงอาจารย์แพทย์ที่ให้ความสำคัญและดูแลอย่างใกล้ชิด ประชาชนก็ไม่ต้องกังวลครับ ว่านักศึกษาแพทย์อาจไม่เก่งพอ เพราะเรียนหนักแล้วก็เครียด แต่ว่าก็อยากให้เข้าใจแพทย์ที่ทำงานตอนนี้เหมือนกันครับ ว่างานอาจหนักและต้องตรวจคนไข้จำนวนมาก แต่พวกเราก็ทำเพื่อดูแลประชาชนให้ดีที่สุด 

สีน้ำ : ถ้าประชาชนมีส่วนช่วยได้ ก็คือการเพิ่มเติมองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเองให้มากขึ้นค่ะ เพราะยิ่งเราดูแลสุขภาพเราดีเท่าไหร่ ก็จะยิ่งห่างจากอาการเจ็บป่วยมากขึ้น แล้วก็อีกทางก็จะช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ไปด้วยค่ะ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าได้ช่วยทั้งพวกเราและทั้งระบบบริการสุขภาพเลยค่ะ