ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘สช. ผนึก สวรส.’ ชักชวน ‘อบจ.นครราชสีมา-มรภ.นครราชสีมา-สสจ.นครราชสีมา’ พร้อมภาคีเครือข่าย เดินหน้าอภิบาลระบบสุขภาพปฐมภูมิ หลัง อบจ.โคราช รับถ่ายโอนฯ รพ.สต. มา 182 แห่ง ด้าน ‘เลอพงศ์​’ มั่นใจ ศักยภาพท้องถิ่นช่วยจัดบริการดีขึ้น-มากขึ้น หวังจัดกำลังเต็มกรอบ S-M-L เพื่อให้ผู้บริการมีความสุข ขณะที่ ‘นพ.ปรีดา’ ชี้จากนี้เป็นโอกาสทลายข้อจำกัดเพื่อดูแลประชาชน


เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.นครราชสีมา) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา (สสจ.นครราชสีมา) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิจังหวัด และการพัฒนาพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น (Sandbox) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น และศึกษาบริบทความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่ตรงกับปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ หลังจากมีการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่ อบจ. โดยมีภาคียุทธศาสตร์ร่วมเป็นสักขีพยาน อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

1

นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายก อบจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า อบจ.นครราชสีมา มีนโยบายด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาคนให้มีคุณภาพ พัฒนาสุขภาวะที่ดี ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา รอบรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง จึงได้รับถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. 182 แห่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นระยะเวลา 1 ปี เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน อย่างไรก็ดีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาวะประชาชน จึงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลไกการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น และการพัฒนาพื้นที่นำร่อง (Sandbox) ซึ่งสอดคล้องนโยบายนายก อบจ.ที่วางเป้าหมาย

ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่น จ.นครราชสีมา เป็นไปตามเป้าหมายและเพื่อประโยชน์สูงสุดร่วมกันของทุกฝ่าย จึงให้มีข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานหลัก และเห็นชอบลงนามในบันทึกข้อตกลงและร่วมประกาศเจตนารมย์สานพลังอำนาจในการพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ต่อไป

5

นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) บรรยายในหัวข้อ “ความท้าทายของการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิท้องถิ่นในทศวรรษหน้า” ตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่มี พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ก.ก.ถ. มองเห็นว่า หาก อปท. เข้ามาช่วยทำภารกิจในการจัดบริการด้านปฐมภูมิให้กับประชาชน เชื่อว่าประชาชนจะได้รับบริการที่ดีและมากขึ้นกว่าเดิม จึงได้ดำเนินการผลักดันให้มีการถ่ายโอน รพ.สต.

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า สิ่งที่ ก.ก.ถ. อยากเห็นคือการบริการที่ดีขึ้นและมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหลักการตามแผนการกระจายอำนาจฯ คืองานไป เงินไป คนสมัครใจ และเมื่อผู้ให้บริการมีแรงจูงใจและมีความสุขในการทำงานก็จะทำให้ภาพนี้เป็นจริง และหากเทียบกับปี 51 ที่มีการถ่ายโอนฯ ให้กับ อปท.ขนาดเล็ก พบว่าการถ่ายโอนฯ ปี 66 มีความแตกต่างกัน คือเป็นการถ่ายโอนฯ ให้กับ อบจ. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ งบประมาณ และบุคลากรที่มากกว่า โดยที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยแล้วว่าอัตรากำลังที่เหมาะสมต่อการจัดบริการตามขนาด S-M-L คือ 7-12-14 แต่ในอดีตมีข้อจำกัดจนทำให้ไม่สามารถบรรจุตามกรอบได้ ทว่าปัจจุบันเมื่อมีการถ่ายโอนฯ มายัง อบจ.แล้ว พบว่า อบจ. มีศักยภาพสูงและสามารถนำคนมาใส่ตามกรอบนี้ได้ โดยตามแผนฯ กำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

1

“นับตั้งแต่มี พ.ร.บ. กำหนดแผนฯ ในปี 2542 เป็นต้นมา อยากชวนคิดว่า อปท. ได้ทำหน้าที่และภารกิจแทนราชการส่วนกลางทั้ง 22 กระทรวงเลยใช่หรือไม่ ในวันนี้ พ.ร.บ. กำหนดแผนฯ ระบุว่า ให้ อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการบริการประชาชนตามกฎหมายจัดตั้ง และให้ อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนตามกฎหมายกระจายอำนาจ หนึ่งในนั้นคือการรับถ่ายโอนภารกิจฯ รพ.สต.มาบริหารจัดการ ฉะนั้นสิ่งที่ชวนคิดต่อและถือเป็นความท้าทายก็คือ อปท. ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมี พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้หน่วยบริการมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ป้องกัน ฟื้นฟู และรักษาเบื้องต้น” นายเลอพงศ์ กล่าว 

ภายในงานเดียวกัน มีเวทีสานเสวนาหัวข้อ “พลังความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ จ.นครราชสีมา” โดยวิทยากรได้ร่วมกันฉายภาพสถานการณ์สุขภาพของ จ.นครราชสีมา รวมถึงนำเสนอมุมมองต่อการอภิบาลระบบ และการจัดบริการระดับปฐมภูมิให้กับประชาชน ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาหน่วยบริการประจำ (CUP split) 

4

นพ.รักเกียรติ ประสงค์ดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิมาย จ.นครราชสีมา กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิภาคชุมชน กล่าวว่า เมื่อพูดถึงระบบสาธารณสุขสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. การแพทย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับรักษาและฟื้นฟู โดยประชาชนสามารถมารับบริการที่โรงพยาบาลชุมชนไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป 2. การสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีมากตั้งแต่อดีต ตรงนี้จะลงไปที่สถานีอนามัยฯ และ รพ.สต. ซึ่งมีบทบาทสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครวมถึงการรักษาเบื้องต้น โดยแนวโน้มในอนาคตหลังจากมีการถ่ายโอนฯ พบว่า อบจ. ซึ่งมีจุดแข็ง มีความคล่องตัว เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมสุขภาพและทำงานเป็นเนื้อเดียวกันได้

“ช่วงเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนฯ จำเป็นต้องดูแลซึ่งกันและกัน โดย นพ.สสจ.นครราชสีมา มีนโยบายว่า ประชาชนต้องไม่ได้รับการผลกระทบจากการถ่ายโอนฯ และเมื่อถ่ายโอนฯ ไปแล้ว ประชาชนต้องได้รับบริการที่ดีกว่าเดิม การส่งต่อ-ประสานงานระหว่างกันต้องเป็นเนื้อเดียวกัน” นพ.รักเกียรติ กล่าว

5

รศ.ดร.ธนิดา ผาติเสนะ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มรภ.นครราชสีมา กล่าวถึงความสำคัญของงานวิจัยกับการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น ตอนหนึ่งว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 พูดถึงการสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยแวดล้อมที่เป็นประเด็นระดับโครงสร้างสำเร็จ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงส่งผลให้การสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion) กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการชวนคนมาทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

รศ.ดร.ธนิดา กล่าวอีกว่า โดยภาพกว้างแล้ว ปัญหาสุขภาพคนไทยในปัจจุบันประกอบด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ ฉะนั้นการส่งเสริมสุขภาพชุมชน ระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้า พฤติกรรมสุขภาพมีความสำคัญ ซึ่งงานวิจัยช่วยให้การพัฒนาตรงตามความต้องการและปัญหาของพื้นที่ ที่ผ่านมา มรภ.นครราชสีมา จึงได้ทำงานวิจัยในระดับพื้นที่จำนวนมาก โดยเริ่มจากการทำพื้นที่ต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ก่อนจะยกระดับขึ้น ส่วนการสนับสนุนการถ่ายโอนฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตบุคลากร คาดว่าภายใน 2 ปี จะช่วย อบจ. ได้

4

พญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 9 กล่าวถึงทิศทางการจัดระบบริการสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ กล่าวว่า หลักใหญ่ใจความของ สปสช. คือเราจะขับเคลื่อนหรือบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ซึ่งต้องเป็นบริการที่มีคุณภาพ เป้าหมายหลักจะสอดคล้องกับการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) คือเมื่อประชาชนมีสุขภาพดีก็จะใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อยลง เรื่องครัวเรือนล้มละลายหรือความยากจนก็จะลดน้อยลง 

ทั้งนี้ เมื่อมีการถ่ายโอน รพ.สต. มาแล้ว ประการแรกคือจะยกระดับการจัดบริการของ รพ.สต. อย่างไร ประการถัดมาคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ดี มีคุณภาพ มีระบบบริการที่เชื่อมโยง รวมถึงเรื่องบริการปฐมภูมิและการดูแลต่อเนื่อง และประการสุดท้ายคือจะทำอย่างไรให้ รพ.สต. รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลอื่นๆ อยู่ได้

“หน้าที่ของ สปสช. คือจะทำอย่างไรให้ระบบอยู่ได้ หน่วยบริการอยู่ได้ เมื่อท่านให้บริการไปแล้วเราก็จะดำเนินการจ่ายชดเชย แต่เท่านั้นไม่พอ เราต้องดูต่อด้วยว่าประชาชนได้รับบริการหรือไม่ เข้าถึงบริการหรือไม่ คุณภาพดีหรือไม่” พญ.สาวิตรี กล่าว

4

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และประธานกรรมการบริหารศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ (ศสพ.) สช. กล่าวถึงนโยบายสาธารณะการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นระดับจังหวัด กล่าวว่า อยากชวนมองภาพใหญ่ร่วมกัน ไม่ว่า จ.นครราชสีมา จะจัดการบริการ CUP split หรือไม่ก็ตาม หากแต่การถ่ายโอนฯ ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดี กล่าวคือหากในอดีตมีข้อจำกัดเรื่องการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย-หลักเกณฑ์ ฯลฯ ประเด็นคือเราจะใช้โอกาสที่มีการถ่ายโอนมาสู่ท้องถิ่นซึ่งมีสายบังคับบัญชาสั้น มีคนเงินของ มาทลายข้อจำกัดในอดีตได้อย่างไร แต่ที่สำคัญคือการทำงานยังจำเป็นต้องอาศัยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สสจ. มาช่วยกำกับคุณภาพ วิชาการ เพื่อตอบโจทย์ประชาชน

“สิ่งสำคัญคืออย่าไปคิดว่าอำนาจจะอยู่ที่ใคร แต่ต้องมองว่าจะตอบสนองประชาชนให้ดีที่สุดได้อย่างไร เมื่อเอาประชาชนเป็นตัวตั้งแล้ว โจทย์ของพื้นที่จะเป็นอย่างไร” นพ.ปรีดา กล่าว

นพ.ปรีดา กล่าวต่อไปว่า สช. คาดหวังที่จะเข้ามาสานพลังภาคีในมิติต่างๆ ที่ยังเป็นรอยต่อในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยมี สวรส. ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองด้านระบบสุขภาพให้การสนับสนุน เพื่อชวนคิดชวนแสวงหาโอกาสร่วมกัน ซึ่ง “โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นภายใต้บริบทการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ.” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. เพื่อค้นหาแนวทางของการทำให้ระบบสุขภาพท้องถิ่นภายหลังได้รับการถ่ายโอนฯ มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ โดยให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วม ท้องถิ่นมาบริหารจัดการ และ สสจ. มาเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ ซึ่งทุกฝ่ายจะมามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางด้วยกัน

1

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชัดเจนว่า จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง มีองค์ความรู้และถือเป็นแล็บปฏิบัติการด้านสาธารณสุขให้กับประเทศมาโดยตลอด เกิดเป็นโมเดลด้านสุขภาพจำนวนมาก และปัจจุบันพบว่า อบจ.นครราชสีมา มีนโยบายการดูแลสุขภาพที่ชัดเจน และมี สสจ.นครราชสีมา ช่วยสนับสนุนเป็นอย่างดี จึงได้คัดเลือกเป็น 1 ใน 6 จังหวัด ที่เข้ามาศึกษาภายใต้โครงการการศึกษาฯ โดยผลผลิตที่เราจะได้จากโครงการนี้ ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ทางด้านวิชาการอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ประเด็นสำคัญคือการทำให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.” นพ.ปรีดา กล่าว

อนึ่ง ภายใต้พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ สช. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ยังได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น เพื่อระดมความคิดเห็นข้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น และร่วมกันพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องทั้ง 2 แห่ง คือ รพ.สต.โตนด และ รพ.สต.ตลาดแค โดยมีผู้บริหารหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ อปท. แกนนำชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทั้ง 2 พื้นที่เข้าร่วม