ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชวิทยาลัย-สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อ ร่วมมือส่งเสริมให้เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ได้รับการดูแลให้มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกาย-จิตใจ มีความปลอดภัยเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ผ่าน 7 มาตรการ


ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกเถลงการณ์ เรื่อง การส่งเสริมให้เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เติบโตอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และแข็งแกร่ง ลงวันที่ 14 พ.ย. 2566 ซึ่งลงนามโดย ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โลห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย 

สำหรับสาระสำคัญ คือ การเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบสาธารณสุข ระบบการศึกษา ฝ่ายการปกครอง ฝ่ายกฎหมาย และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งจากภาคประชาชน บูรณาการการทำงานเพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ได้รับการดูแลให้มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีความปลอดภัย และเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพและมีความแข็งแกร่ง ด้วยมาตรการต่อไปนี้

1. ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดและป้องกันความพิการแต่กำเนิด ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ การฝากครรภ์การคัดกรองและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดการรักษาและการติดตามทารกที่มีความเสียงหรือมีปัญหาที่ต้องติดตามอย่างเป็นระบบ

2. ดูแลสุขภาพและส่งเสริมพัฒนาการเด็กในทุกด้าน ตั้งแต่การดูแลหลังเกิด ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่การกำกับดูแลสุขภาพในทุกช่วงวัย ซึ่งรวมถึงการจัดการด้านโภชนาการที่เหมาะสมและปลอดภัย การให้วัคซีนป้องกันโรคอย่างทั่วถึง การคัดกรองพัฒนาการ และระบบการส่งต่อและติดตามเมื่อพบปัญหา ตลอดจนการรักษาภาวะเจ็บป่วย ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังอย่างมีประสิทธิภาพ

3. สนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพในทุกช่วงวัย เช่น สนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึง ส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีทักษะที่ดีในการเลี้ยงดูเด็กในทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยทารกไปจนถึงวัยรุ่น รวมทั้งมีทักษะในการสื่อสารและให้คำปรึกษาแก่เด็ก เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงทางใจ มีคุณธรรม และมีความสามารถในการปรับตัวสู้กับปัญหา (resilience)

4. ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาระบบการศึกษา ให้เด็กได้มีการเรียนรู้อย่างมีความสุข มีความคิดสร้างสรรค์ความมั่นใจ มีทางเลือกในการเรียนที่ตรงกับความถนัด ด้วยเนื้อหาและเวลาเรียนที่มีความสมดุลกับกับเวลาที่เด็กต้องมีสำหรับกิจกรรมสันทนาการและการพักผ่อน และมีการเตรียมทักษะให้เด็กมีความพร้อมสำหรับรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ทักษะการแก้ปัญหา การเคารพสิทธิและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การคิดวิเคราะห์ ตลอดจนการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy)

5. ป้องกันอันตรายต่างๆ ที่อาจมีต่อเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยมีมาตรการป้องกันและจัดการกับปัญหาอย่างจริงจังและเป็นระบบ เช่น การแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋ว (PM 2.5) และมลพิษอื่นๆ การควบคุมและป้องกันการเข้าถึงยาเสพดิด รวมถึงกัญชา บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า การป้องกันอุบัติเหตุ การป้องกันและจัดการกับปัญหาการทารุณกรรมเด็กและการกลั่นแกล้งรังแก (bully) ทั้งโดยตรงและทางสื่อสังคมออนไลน์ (cyberbully) รวมทั้งมีการควบคุมสื่อที่เป็นอันตรายต่อเด็ก

6. ค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต เต็กที่มีปัญหาพัฒนาการและการเรียน เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยมิชอบ เด็กด้อยโอกาส โดยมีระบบคัดกรองและติดตามช่วยเหลือ โดยใช้กลไกแบบบูรณาการ ทั้งในระบบครอบครัว โรงเรียน สังคม และมาตรการทางกฎหมายต่างๆ รวมถึงการควบคุมอย่างจริงจังไม่ให้เด็กเข้าถึงอาวุธต่างๆเพื่อป้องกันอันตรายต่อเด็กและต่อบุคคลอื่น

7. สนับสนุนการเพิ่มอัตราการเกิด โดยทั้งกลไกทางการแพทย์และกลไกทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่นช่วยเหลือแก้ปัญหาการมีบุตรยากหรือความไม่พร้อมในการมีบุตร ส่งเสริมสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ การคลอดและการเลี้ยงดูเด็ก ส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษาและระบบ ในสังคม เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าเด็กไทยที่เกิดมาจะสามารถเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันอัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องและมีจำนวนเด็กที่เกิดขึ้นในประเทศไทยน้อยลง ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของเด็กยังเป็นปัญหาที่น่าวิตก

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยพร้อมที่จะให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและถูกต้อง รวมถึงให้ข้อแนะนำแก่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพและสวัสดิภาพของเด็ก เพื่อให้เด็กในศตวรรษที่ 21 ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และแข็งแกร่ง

1

4