ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 (Sustainable Development Goal 3) สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย นับเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ และเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องการขับเคลื่อนให้บรรลุผล

ล่าสุด กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 ฯ ซึ่งภายใต้แผนฉบับดังกล่าว ได้กำหนด ‘เป้าหมายย่อย’ พร้อม ‘ตัวชี้วัด’ ไว้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น 13 เป้าหมายย่อย ประกอบด้วย

1. ลดอัตราการตายของมารดา ทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 คน ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน ภายในปี 2573 โดยมีตัวชี้วัดคือ อัตราการตายของมารดา (ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน) และสัดส่วนของการคลอดบุตรที่ดูแลโดยบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีความชำนาญ 

2. ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารก ลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายใน ปี 2573 โดยมีตัวชี้วัดคือ อัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน) และอัตราตายของทารกแรกเกิด (ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน) 

3. ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรียและโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยมีตัวชี้วัดคือ จำนวนผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ ต่อประชากรที่ไม่มีการติดเชื้อ 1,000 คน (จำแนนกตาม เพศ อายุ และกลุ่ม ประชากรหลัก) อัตราการเกิดโรควัณโรคต่อประชากร 100,000 คน อัตราการเกิดโรคมาลาเรียต่อประชากร 1,000 คน จำนวนของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่อประชากร 100,000 คน จำนวนผู้ที่ต้องการความ ช่วยเหลือในการดูแลรักษาโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Neglected Tropical Diseases) 

4. ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573 โดยมีตัวชี้วัดคือ อัตราการตายของผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หรือโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และอัตราการฆ่าตัวตาย 

5. เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด ซึ่งรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางอันตราย โดยมีตัวชี้วัดคือ ความครอบคลุมของการรักษา (การรักษาโดยใช้ยาทางจิตสังคมและการฟื้นฟูสมรรถภาพและบริการการติดตามผลการรักษา) สำหรับผู้ที่ ใช้ยาและสารเสพติด การดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตราย นิยามตามบริบทของประเทศ คิดเป็นปริมาณแอลกอฮอล์ต่อหัวประชากร (อายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป) ในจำนวนลิตรของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ภายในปีปฏิทิน 

6. ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573 โดยมีตัวชี้วัดคือ อัตราผู้เสียชีวิตจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน 

7. สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงบริการข้อมูลการให้การศึกษาเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า รวมถึงการวางแผนครอบครัวและการผสานอนามัยเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์ และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573 โดยมีตัวชี้วัดคือ สัดส่วนของหญิงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-49 ปี) ที่พึงพอใจกับการวางแผนครอบครัวด้วยวิธีสมัยใหม่ อัตราการคลอดในหญิงอายุ (10-14 ปี, 15-19 ปี) ต่อผู้หญิงอายุ (10-14 ปี,15-19 ปี) 1,000 คน 

8. บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถใช้ซื้อหาได้ โดยมีตัวชี้วัดคือ ความครอบคลุมของบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น (นิยามความครอบคลุมของบริการที่จำเป็นเฉลี่ย โดยยึดการติดตามการรักษา ซึ่งประกอบด้วย ภาวะเจริญพันธุ์ มารดา เด็กเกิดใหม่และสุขภาพเด็ก โรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ และ ความสามารถในการเข้าถึงบริการระหว่างคนทั่วไปและผู้ด้อยโอกาส) และ สัดส่วนของประชากรที่มีค่าใช้จ่ายครัวเรือนด้านสุขภาพต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนหรือรายได้ทั้งหมดอยู่ในระดับสูง 

9. ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายใน ปี 2573 โดยมีตัวชี้วัดคือ อัตราการตายที่เกิดจาก มลพิษทางอากาศในบ้านเรือนและในบรรยากาศ อัตราการตายที่เกิดจากน้ำ และการสุขาภิบาลที่ไม่ปลอดภัย และปราศจากสุขลักษณะ (เผชิญกับบริการด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัยที่ไม่ปลอดภัย) อัตราการตายที่เกิดจากการได้รับสารพิษโดยไม่ตั้งใจ

10. เสริมการดำเนินงานของกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลก ว่าด้วยการควบคุมยาสูบในทุกประเทศ ตามความเหมาะสม โดยมีตัวชี้วัดคือ ความชุกที่ปรับมาตรฐานอายุแล้ว (age-standardized) ของการใช้ยาสูบ/บุหรี่ในปัจจุบันของกลุ่มผู้สูบบุหรี่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 

11. สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยา สำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ตามปฏิญญาโดฮา ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพ สาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยา โดยถ้วนหน้า

ทั้งนี้มีตัวชี้วัดคือ สัดส่วนของประชากรที่เข้าถึงยาและวัคซีนในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน ยอดรวมสุทธิความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) ด้านการวิจัยทางการแพทย์ และด้านสุขภาพพื้นฐาน สัดส่วนของสถานพยาบาลที่มีชุดยาจำเป็น (Core Set of Relevant Essential Medicines) ในราคาที่ซื้อหาได้อย่างยั่งยืน 

12. เพิ่มการใช้เงินที่เกี่ยวกับสุขภาพ และการสรรหาการพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก โดยมีตัวชี้วัดคือความหนาแน่นและการกระจายตัวของบุคลากรด้านสาธารณสุข 

13. เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก โดยมีตัวชี้วัดคือ ศักยภาพในการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations) และการเตรียม ความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุข สัดส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือดเนื่องจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ 

อนึ่ง สามารถอ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่ https://spd.moph.go.th/wp-content/uploads/2023/08/SDGgoal3.pdf