ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสจ.เชียงราย ยกระดับบริการสุขภาพเชื่อมเทคโนโลยี นำร่อง 6 อำเภอ ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันเห็นผล ผ่านแอปฯ ‘AIDERY Connect’ ที่พัฒนาขึ้นเอง ช่วยติดตามอาการได้ใกล้ชิด แพทย์เห็นผลเลือดผ่านระบบ วางแผนรักษาได้ทันที ผนึกแรง อสม. ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน พร้อมใช้เทเลเมดิซีนเสริม เล็งปี 67 ขยายไปทั้งจังหวัด 


นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย (นายแพทย์ สสจ.เชียงราย) เปิดเผยกับ "The Coverage" ตอนหนึ่งว่า จ.เชียงราย ได้ยกระดับบริการสุขภาพในด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในการเชื่อมเข้ากับระบบเทคโนโลยีดิจิทัล คือ แอปพลิเคชัน  AIDERY Connect  ที่ได้พัฒนาร่วมกับเครือข่ายด้านสุขภาพใน จ.เชียงราย ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบข้อมูลของโรงพยาบาล รวมถึงจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้เชียงราย (Learning Innovation Center) เพื่อใช้เป็นระบบขับเคลื่อนการบริการสุขภาพผู้ป่วย NCDs โดยเฉพาะกลุ่มช่วงวัยทำงานที่เป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง 

ทั้งนี้ จากการดำเนินการที่ผ่านมา ในพื้นที่นำร่อง 6 อำเภอ ได้แก่ แม่ลาว แม่สรวย ขุนตาล ป่าแดด เวียงป่าเป้า และดอยหลวง พบว่าได้ผลดีอย่างมาก โดยทำให้สุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันดีขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยสามารถติดตามสถานะของโรคและรับคำแนะนำจากแพทย์ผ่าน AIDERY Connect ได้

นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด และความดันได้ด้วยตนเองผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน ตลอดจนส่งข้อมูลการตรวจวัดต่างๆ ให้กับแพทย์ ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถติดตามสถานะของโรคและประเมินผลการรักษาได้อย่างถูกต้อง ทันท่วงที รวมถึงผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีคุณภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

1

นพ.วัชรพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดการให้บริการสุขภาพ ที่เอื้อประโยชน์กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย มี 3 รูปแบบ คือ 1. การให้บริการบันทึกการตรวจสุขภาพแบบครบวงจร สามารถมอบหมายงานได้แบบ one-to-many และ many-to-many เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มของสุขภาพได้แบบรายบุคคลหรือแบบกลุ่ม เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพอย่างใกล้ชิด พร้อมการแจ้งเตือนไปยัง Caregiver และผู้ที่เกี่ยวข้อง 

นพ.วัชรพงษ์ กล่าวอีกว่า 2. Dashboard ค่าสุขภาพช่วยให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางติดตามภาพรวมของจำนวนผู้รับบริการ เคสที่ดำเนินการแล้ว และที่ยังไม่ได้ดำเนินการ พร้อมทั้งผลวิเคราะห์ค่าสุขภาพโดยภาพรวม และ 3. การเฝ้าระวังสุขภาพ มีการบันทึกประวัติและอาการสุขภาพ โดยจะมีการแจ้งเตือนค่าสุขภาพที่ผิดปกติไปยัง Caregiver และผู้ดูแลที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถติดตามและบันทึกการสอบถามอาการ เมื่อพบค่าสุขภาพที่ผิดปกติให้ผู้รับบริการรับทราบและได้รับการตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว

นายแพทย์ สสจ.เชียงราย กล่าวเสริมด้วยว่า บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ยังได้ร่วมกันนำนวัตกรรมและอุปกรณ์อัจฉริยะในการดูแลสุขภาพตนเอง รวมทั้งให้ความรู้ด้านสุขภาพ และการดูแลตัวเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนและผู้สูงอายุ ได้แก่ การอบรมให้ความรู้ด้านโภชนาการที่เหมาะสม การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (health literacy) และเรียนรู้การใช้งานแอปพลิเคชันประเมินสุขภาพเบื้องต้น

1

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนารูปแบบการบริการผู้ป่วย NCDs ที่บ้าน หรือ NCDs@Home โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ติดตามวัดความดันโลหิต เจาะเลือดหาค่าน้ำตาลปลายนิ้ว ผ่านแพลตฟอร์ม 'กินอยู่ดี' ของบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาล เพื่อติดตามประเมินสุขภาพผู้ป่วยรายคน หากผิดปกติให้พบแพทย์ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) สำหรับให้การรักษา และประสานเภสัชกรจัดยาเตรียมส่งมอบให้ อสม. หรือไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยที่บ้าน หรือที่ชุมชน โดยไม่ต้องมารับยาเองที่โรงพยาบาลเหมือนเดิม และจะมีระบบติดตามอาการตามมาจาก อสม. และหน่วยบริการ 

นพ.วัชรพงษ์ กล่าวอีกว่า ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการยกระดับบริการสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูงของ จ.เชียงราย ทำให้ได้รับรางวัลรูปแบบบริการ (Service Model) ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับผู้ป่วย NCDs เพื่อแก้ไขปัญหาการให้บริการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง และได้สร้างกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ร่วมกันทำงานจนเป็นที่ยอมรับ และทำให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์จากการรักษา 

"สำหรับอนาคต สสจ.เชียงราย และภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันทำงาน จะขับเคลื่อนยกระดับรูปแบบการบริการสุขภาพจากพื้นที่นำร่อง ไปสู่การยกระดับให้เป็นรูปแบบดูแลผู้ป่วยแบบเดียวกันทั้ง 18 อำเภอ โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2567 นี้ทันที เพื่อให้ จ.เชียงราย เป็นเมืองแห่งสุขภาพดิจิทัล หรือ Digital Health Chiangrai Wellness City" นพ.วัชรพงษ์ กล่าวตอนท้าย