ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.มะเร็งชลบุรี ผุดโครงการ Animal Assisted Therapy ลดความวิตกกังวล-ดูแลสุขภาพจิต ผู้ป่วยมะเร็ง ด้วยประสบการณ์โลกใต้ทะเล


พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วน Quick Win ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Cancer Warrior หรือ “มะเร็งครบวงจร” โดยพบว่าปัจจุบันผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด หรือการรักษาร่วมกัน ผลจากการรักษานอกจากจะทำลายเชื้อมะเร็ง อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและการปฏิบัติภารกิจประจำวัน 

ทั้งนี้ เมื่อโรคมะเร็งลุกลามเข้าสู่ระยะท้ายของชีวิต ผู้ป่วยจะรู้สึกวิตกกังวล ท้อแท้ สิ้นหวัง ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานจากโรค เป็นเหตุให้กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ได้ดำเนินโครงการ Animal Assisted Therapy : The way of water in the Aquarium เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสุขภาพจิต ลดความวิตกกังวล คลายความว้าเหว่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง  

1

นพ.ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี สังกัดกรมการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคมะเร็ง ได้จัดทำโครงการ Animal Assisted Therapy : The way of water in the Aquarium สนับสนุนให้ผู้ป่วยที่มีความรัก ชื่นชอบต่อวิถีชีวิตสัตว์ พืชพันธุ์หรือสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมสัตว์น้ำ สัมผัสบรรยากาศโลกใต้ทะเล ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา นับได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น 

นพ.ปิยวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาสามารถช่วยให้ความวิตกกังวล ความเครียด ความปวด ผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกว่าตนเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ฟื้นฟูสภาพจิตใจขณะรับการรักษา ลืมความวิตกกังวล รู้สึกเพลิดเพลิน สุขสบายขณะชมสัตว์ทะเล การนอนหลับดีขึ้น มีความพึงพอใจต่อกิจกรรมนี้อยากให้จัดต่อไป และเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยคนอื่น 

1

ทั้งนี้ จ.ชลบุรี ยังมีทรัพยากรในพื้นที่สนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีกมาก อาทิ การแสดงโชว์ความสามารถสัตว์ สวนธรรมชาติ สวนสัตว์ หาดทรายชายทะเล ร้านอาหาร หรือศาสนสถาน ซึ่งจะนำมาพิจารณาปรับใช้ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาวะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายรังสี ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด การรักษาแบบผสมผสาน รวมทั้งเยียวยาจิตใจผู้ดูแล ตามความเหมาะสม

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันในเรื่อง High Medical Technology รวมทั้งสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ หรือ Health for Wealth เพราะมีศักยภาพเรื่องของ Medical Service Hub เป็นการสนับสนุนการใช้จุดแข็งด้านสมรรถนะทางการแพทย์ร่วมกับด้านทรัพยากรการท่องเที่ยวของประเทศ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่อไป

5