ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายแพทย์ สสจ.เชียงราย แจง จากบุคลากรที่ประสงค์ถ่ายโอนทั้งหมด 206 คน มี 40 คนที่ สธ. ยังไม่รับรอง จึงไม่สามารถให้ไปรายงานตัวกับ อบจ. ได้ และต้องอยู่ที่หน่วยงานเดิมสังกัด สธ. ก่อน จนกว่าจะมีคำสั่งใหม่ ย้ำ ไม่ปิดกั้น แต่ขอให้ทำตามกติกา


นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ไม่ใช่บุคลากรที่ประสงค์ถ่ายโอนทั้งหมด 206 คนที่ยังไม่สามารถไปรายงานตัวกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้ และต้องปฏิบัติงานในหน่วยงานเดิม สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งหรือข้อสั่งการใหม่ แต่มีเพียง 40 คนที่ประสงค์ถ่ายโอน ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่รับรองรายชื่อ โดยในส่วนที่ สธ. อนุมัติมี 166 คน จึงทำให้รายชื่อไม่ตรงกับที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ส่งมา และทาง สสจ. ไม่สามารถให้บุคลากร 40 คนดังกล่าวดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้

ดังนั้น สสจ. เชียงรายจึงต้องออกหนังสือด่วนที่สุดแจ้งเวียนไปยังโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ทุกอำเภอ เรื่องแนวทางการดำเนินการถ่ายโอนบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ โรงพยาบาลส่งเสริมุสขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่ อบจ. ประจำปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 2 ต.ค. 2566) เพื่อให้บุคลากรที่ประสงค์ถ่ายโอนทั้ง 40 คนนี้ รอความชัดเจนจาก สธ. อีกครั้งว่าจะให้ดำเนินการต่ออย่างไร เนื่องจากทาง สสจ. ไม่สามารถทำอะไรที่อยู่นอกเหนือจากคำสั่งของ สธ. ได้ โดย สสจ.เชียงราย ไม่ได้ปิดกั้น แต่ขอให้ทำตามกติกา

อนึ่ง ทางเพจเฟซบุ๊ก สสจ.เชียงราย ได้มีการโพสต์คำชี้แจงถึงข่าวที่ปรากฏทางสื่อออนไลน์ กรณีหนังสือถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไป อบจ. หลังมีการเข้าใจผิดว่า สธ. ยื้อไม่ให้ไป

โพสต์ดังกล่าวระบุว่า ตามที่มีการแชร์ในสังคมออนไลน์ กรณีหนังสือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เรื่อง แนวทางการดำเนินการถ่ายโอนบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (วันที่ 2 ต.ค. 2566) โดยส่งถึง ผอ.โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และสาธารณสุขอำเภอ ทุกอำเภอ ลงนามเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีการแชร์ข่าวหนังสือดังกล่าว ให้เกิดมีความเข้าใจเข้าใจผิดว่าเป็นการยื้อบุคลากรที่ต้องการถ่ายโอนไปท้องถิ่น

นอกจากนี้ สสจ.เชียงราย ขอชี้แจงว่าหนังสือดังกล่าวเป็นแนวทางการดำเนินการ ทางกระทรวงฯ ไม่ได้มีการยื้อแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมามีบุคลากรของทางจังหวัดที่ผ่านการรับรองตามขั้นตอนแล้ว จำนวน 166 ราย ซึ่งดำเนินการถ่ายโอนไป อบจ.ได้ตามปกติ แต่ยังมีบุคลากรอีก จำนวน 40 ราย ที่ให้กลับมาปฏิบัติงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามเดิม ตามเงื่อนไขในหนังสือก่อน เนื่องจากกลุ่มนี้ยังไม่ได้ผ่านการรับรองของกระทรวงสาธารณสุข เพราะรายชื่อระหว่างกระทรวงฯ และท้องถิ่นยังไม่ตรงกัน ซึ่งเมื่อชื่อตรงกันแล้วจะดำเนินการตามขั้นตอนถ่ายโอนต่อไป ไม่ได้เป็นการยื้อหรือห้ามแต่อย่างใด

1