ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สบส. ชวนยุว อสม.-แกนนำนักเรียน ร่วมกันเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนถูกบูลลี่ในสถานศึกษาและชุมชน หลังสำรวจพบเด็กและเยาวชนเคยถูกบูลลี่ถึง 44%


นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการที่เด็กและเยาวชนถูกกลั่นแกล้งรังแก (บูลลี่) เกิดความรู้สึกอับอาย ด้อยค่า มีปัญหาทางด้านสุขภาพ และด้านจิตใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนโดยตรง ดังนั้น สบส. โดยกองสุขศึกษา จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประเด็นพฤติกรรมการบูลลี่ ด้วยการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 21 ก.ค.-10 ส.ค. 2566 จำนวน 37,271 คน ดำเนินการร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 

3

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่าเด็กและเยาวชนเคยถูกกลั่นแกล้งรังแก 44.2% โดยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนสูงถึง 86.9% และเรื่องที่มักถูกกลั่นแกล้งรังแก ได้แก่ ล้อเลียนหน้าตา หรือบุคลิก 76.6% ตอกย้ำปมด้อย และด่าทอ 63.3% ทำร้ายร่างกาย 55.1% ฉะนั้น สบส. จึงขอแนะนำวิธีปฏิบัติเมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแก โดยให้ตั้งสติ ไม่ใส่ใจ อย่าให้ผู้กลั่นแกล้งรู้สึกสนุก มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ใช้กำลัง พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่เข้าใจ และรู้วิธีจัดการตนเองเมื่อถูกบูลลี่

ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเสริมว่า ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) เป็นเยาวชนจิตอาสาที่สามารถให้การช่วยเหลือ และแจ้งกับทางครูที่ปรึกษาในการเฝ้าระวังสังเกต และให้การช่วยเหลือนักเรียนที่บูลลี่ในโรงเรียน ร่วมกับการดูแลทางด้านจิตใจ สร้างกิจกรรมพลังบวกให้กับเด็กและเยาวชน 

ตลอดจนสนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น ตามหลักสุขบัญญัติข้อที่ 6 ซึ่งครอบครัวมีส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานให้มีพฤติกรรมที่ไม่รุนแรง ไม่ก้าวร้าว และไม่แสดงกิริยาข่มขู่ รวมทั้งมีการสังเกตพฤติกรรมของคนในครอบครัวว่ามีพฤติกรรมถูกบูลลี่หรือไม่ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายยุว อสม. ในการเฝ้าระวัง และเป็นหูเป็นตาจากการถูกบูลลี่ในสถานศึกษาระดับชุมชนต่อไป