ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะอนุกรรมการมีส่วนร่วมฯ บอร์ดสปสช. ลงพื้นที่ จ.สงขลา รับทราบสถานการณ์การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน แจงตั้งคณะทำงานร่วมกับมหาดไทยและ พม.เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. และคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ลงพื้นที่ดูงานด้านการมีส่วนร่วม การคุ้มครองสิทธิ และศึกษากรณีการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยมี ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผอ.สปสช.เขต 12 สงขลา และเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขต 12 สงขลาให้ข้อมูล โดยการดูงานครั้งนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2562            

นางสาวสารี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในวันนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การแก้ไขปัญหาคนไทยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เมื่อลงพื้นที่พบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ซับซ้อน ซ้ำยังเป็นกลุ่มคนจนในเมือง และยังมีขั้นตอนการตรวจดีเอ็นเอ ที่ต้องกลับไปตรวจที่ภูมิลำเนาเดิมก็ไม่ง่าย เช่น มาอยู่สงขลานานแล้ว แต่บ้านเกิดอยู่ที่หนองคาย สุโขทัย เชียงราย ญาติพี่น้องอยู่ที่นั่น เป็นต้น ตรงนี้ทางคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมฯ ของ สปสช.ก็จะรวบรวมข้อมูล และหาแนวทางว่าคนเหล่านี้ต้องเข้าถึงบริการสุขภาพเมื่อเขาเจ็บป่วย ซึ่งก็โชคดีที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ประธานคณะทำงานในเรื่องนี้ที่เข้มแข็งมากจากกระทรวงมหาดไทย เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยพร้อมคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อวางระบบการแก้ไขในระยะยาว ให้คนไทยตกหล่นได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยลดความยากจนในสังคมไทย ซึ่งขณะนี้เราใช้กลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนช่วยดำเนินการในด้านนี้อยู่

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ปัจจุบันผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประมาณ 48 ล้านคน เราสามารถทำให้เข้าถึงสิทธิได้เกือบ 100% แล้ว แต่ยังมีคนไทยกลุ่มที่หนึ่งที่ตกหล่นเข้าไม่ถึงสิทธิ เราเรียกว่ากลุ่มคนเปราะบาง เช่น ผู้ต้องขัง พระภิกษุ และคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) เห็นความสำคัญของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยกำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมฯ ซึ่งตั้งขึ้นภายใต้บอร์ดสปสช.ก็มาดูเรื่องนี้ และทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยตั้งเป็นคณะทำงานที่มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ตอนนี้อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อให้รู้ขอบเขตของปัญหา และพิจารณาว่าปัญหาของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน และแก้ไขตรงไหนได้บ้าง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขตามสิทธิที่มี

นางสาวบารีย๊ะ ยาดำ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน สมาคมผู้บริโภค จ. สงขลา กล่าวว่า ที่ผ่านมา เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขต 12 สงขลา จะพบเจอปัญหากรณีคนในชุมชนเมื่อเจ็บป่วยแล้วไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน เช่น ตกสำรวจ ไม่ได้แจ้งเกิด ชื่อถูกย้ายเข้าทะเบียนบ้านกลาง หรือที่เรียกว่าคนไทยไร้สิทธิ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งที่ผ่านมาการช่วยเหลือค่อนข้างทำได้ยาก ต่อมาเมื่อได้เข้าร่วมโครงการการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ที่ สปสช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ทางเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในจังหวัดสงขลา ร่วมกับเครือข่ายสลัมสี่ภาคได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจสภาพปัญหา พบคนไร้สิทธิ 34 คนแบ่งเป็น

1.กลุ่มที่พบหลักฐาน เช่น บัตรสูติบัตร, เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก, ท.ร.14, บัตรนักเรียนหรือสมุดพกนักเรียน, ใบผ่านการเกณฑ์ทหาร (สด.43) จำนวน 11 คน              

2.กลุ่มที่ไม่ปรากฏหลักฐานใดเลย ซึ่งเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม โดยสืบข้อเท็จจริงไปถึง สัญชาติบรรพบุรุษ เพื่อค้นหาการมีสัญชาติไทย จำนวน 23 คน

นางสาวบารีย๊ะ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินการที่ผ่านมา สามารถช่วยประสานงานให้มีบัตรประชาชนได้แล้ว 5 คน หลังจากนั้นช่วยเหลือให้ลงทะเบียนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 30 บาท รวมถึงประสานงานได้รับสิทธิอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สิทธิคนพิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอาย รวมทั้งได้รับเงินจาก จปฐ.เนื่องจากตกเกณฑ์ชีวัดความยากจน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการทำงานที่ผ่านมา มีข้อเสนอว่า การมีหน่วยงานทำหน้าที่ประสานงานแบบ one stop service จะช่วยให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงกำหนดแนวทางการสนับสนุนให้ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในการทำงานดังกล่าว