ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปธ.ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แนะ ยกระดับ 30 บาท ต้องวางฐานรากปฐมภูมิให้เข้มแข็ง จัดกำลังคน-งบประมาณ พร้อมทั้งควรกระจายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว-มีแนวทางสนับสนุน


พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย เปิดเผยผ่านงานเสวนา “Policy Forum ครั้งที่ 1 : นโยบายด้านสาธารณสุข” ที่จัดขึ้นโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมาตอนหนึ่งว่า การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ให้ดี ต้องลงทุนและสร้างระบบบริการปฐมภูมิ ทั้งเรื่องการจัดสรรกำลังคนที่เป็นฐานสำคัญ ซึ่งยังพบว่านโยบายการจัดสรรยังไปถึงชนบทน้อยเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลใหญ่ 

รวมถึงงบประมาณที่ลงไปในงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) รวมถึงหน่วยบริการสนับสนุน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ฯลฯ เมื่อเทียบกับสถานพยาบาลเฉพาะทางแล้วยังน้อยกว่ามาก ฉะนั้นประเด็นสำคัญคือการวางสมดุลที่ดีระหว่างฐานรากอย่างปฐมภูมิและเฉพาะทาง  

“ถ้าจะยกระดับในจุดนี้ได้ นอกจากจะทำให้บริการไปที่ไหนก็ได้ ต้องลงทุนฐานรากปฐมภูมิ ทั้งกำลังคน งบประมาณให้ดี” พญ.สุพัตรา ระบุ 

พญ.สุพัตรา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่มีเพิ่มขึ้น ควรกระจายและมีแนวทางรวมถึงระบบสนับสนุนที่ดีตั้งแต่ เงิน งบประมาณ ระบบที่เพื่อให้บุคลากรรู้สึกมีความหมาย ตรงนี้จะเป็นประเด็นการจัดสรรเชิงการลงทุนทั้งเรื่องกำลังคนและงบประมาณที่จะต้องไปให้ถึง งบประมาณที่จะไปถึงปลายทางอาจจำเป็นต้องมีเม็ดเงินที่มากและชัดเจนกว่านี้ เพราะหากการแพทย์ปฐมภูมิดี เรื่องชีวาภิบาล และสุขภาพจิตจะถูกแก้ไขหมด

“เงินที่ลงเป็นก้อนปลายทางจำเป็นต้องมีเม็ดเงินที่เยอะและชัดเจนกว่านี้ วิธีจัดสรรงบปัจจุบันยังมีปัญหา แม้จะมีระบบ UC แต่ถ้าดูรายละเอียดยังมีปัญหา” พญ.สุพัตรา ระบุ

ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นโมเดลเดียวที่ไม่ต้องขึ้นเป็นหน่วยบริการประจำ หน่วยบริการไม่ว่าจะเป็นคลินิก หรือศูนย์บริการสาธารณสุขก็ไม่ได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว แต่เป็นเป็นการจ่ายตามรายการที่กำหนด (Free Schedule) ทำให้บางครั้งมีการจ่ายเงินไม่เต็มบาท บางอย่างจ่ายในราคาถูกกลายเป็นเบี้ยหัวแตก ทำให้เห็นถึงการความพยายามในการจัดการ แต่ยังขาดฐานรากที่ยังต้องมีหน่วยบริการประจำ