ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ต้องดูกันต่อว่า นโยบายการทำงานของเบอร์หนึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนใหม่ อย่าง “หมอชลน่าน” หรือ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ในฐานะ รมว.สธ. ในห้วงเวลาอีก 4 ปีข้างหน้า เข็มทิศความสำเร็จจะพุ่งไปยังทิศทางใด

หลัง 2 คีย์เวิร์ด ภายใต้การนำของอดีตหมอที่เคยทำงานในชนบทก่อนก้าวเข้าสู่วงการการเมือง ที่เป็นร่องรอยอันพอจับต้องได้ในตอนนี้ คือ "การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)" ที่ดูแลสุขภาพของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 47 ล้านคน แต่จะยกระดับอย่างไร แบบไหน ยังไม่มีการอธิบาย

ส่วนอีกประเด็น "บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ เข้าได้ทุกโรงพยาบาล" ซึ่ง “หมอชลน่าน” พูดกับสื่อมวลชนสั้นๆ เมื่อ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็ยังจำเป็นต้องติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมอีก ว่าจะทำอย่างไรกับการใช้บัตรใบเดียวไปได้ทุกโรงพยาบาล หรือแนวทางแบบไหนที่จะนำไปสู่กระบวนการอย่างที่หวัง

อาจเพราะในช่วงเวลานี้เป็นการขึ้นรูปรัฐบาลชุดใหม่ ที่ยังมีหลายเรื่องให้จัดการ เราจึงยังไม่เห็นรายละเอียดของนโยบาย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการประกาศเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าทั้ง 2 เรื่องนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว หากแต่เป็นการต่อยอดนโยบายที่มีอยู่เดิม เพราะช่วงที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้ยกระดับบัตรทองไปในลักษณะคล้ายคลึงกันแล้ว

ตัวอย่างเช่น “นโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิ” ซึ่งดีเดย์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 หรือ “มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้” (Cancer Anywhere) ที่ประกาศใช้เมื่อ 1 ม.ค. 2564 

ดังนั้น ไม่ว่านโยบายจะออกไปในทิศทางไหน “คนทำงาน” ในระบบบริการสุขภาพ ก็มีประสบการณ์กับทั้ง “การยกระดับบัตรทอง” และการทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “รักษาทุกที่” แล้ว และต่างเจออุปสรรคมามากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป 

“The Coverage” ได้พูดคุยกับ 3 หมอจากหลากหลายบทบาทในระบบบริการสุขภาพ ถึงนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ และเสียงสะท้อนถึง 2 ความต้องการที่ “หมอชลน่าน” อยากจะขับเคลื่อนให้บัตรทองไปถึง  

นพ.ฬุจิศักดิ์ วรเดชวิทยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ่อเกลือ จ.น่าน บอกกับ “The Coverage” ว่า เอาจริงๆ เราก็ยังไม่รู้ว่านโยบายของ นพ.ชลน่าน จะเป็นอย่างไร แต่ในฐานะแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่ชนบทห่างไกล ก็อยากเห็นนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุน (บัตรทอง, ประกันสังคม สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) ไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น ฉะนั้นการจะยกระดับก็ควรทำทั้ง 3 ระบบไปเลย เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับการบริการสุขภาพ การดูแลรักษาอย่างเท่าเทียมทั้งหมด แต่เข้าใจว่าที่ต้องการยกระดับบัตรทองก่อน ก็เพราะเป็นกองทุนสุขภาพที่ดูแลประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ  

ส่วนประเด็นบัตรประชาชนใบเดียวเข้าได้ทุกโรงพยาบาลของสิทธิบัตรทอง หากเป็นแนวนโยบายที่จะพัฒนาเรื่องของระบบฐานข้อมูลของผู้ป่วยให้เป็นระบบเดียว และทำให้โรงพยาบาลทุกแห่งสามารถเข้าถึงได้ ก็จะช่วยทำให้การใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้าโรงพยาบาลได้ทำหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่หากหมายความว่า ใช้บัตรประชาชนใบเดียวแล้วเข้าทุกโรงพยาบาลได้เลย ก็ไม่ต่างจากปัจจุบันที่ระบบบริการสุขภาพก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว 

"แต่ที่อยากเห็นจริงๆ คือ การลงทุนด้านงบประมาณในการพัฒนาโรงพยาบาล รวมถึงจัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา โรงพยาบาลหลายแห่งต้องใช้วิธีขอรับบริจาค ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง และ สธ. ควรจะต้องมีระบบ และแนวทางที่ชัดเจนมากกว่านี้" นพ.ฬุจิศักดิ์ กล่าว 

อีกหนึ่งบุคลากรแพทย์ระดับทีมบริหารโรงพยาบาลระดับจังหวัดแห่งหนึ่ง ที่ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะอยากเห็นนโยบายอย่างเป็นทางการก่อน บอกกับ “The Coverage” ว่า ทราบมาว่าจะมีการแถลงนโยบายอย่างทางการกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศในวันที่ 12 ก.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นการลงพื้นที่ไปยัง จ.อุดรธานี และจากนั้นคาดว่าจะมีการสื่อสารมายังหน่วยบริการ โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศในลำดับต่อมา 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการยกระดับบัตรทอง รวมไปถึงการใชับัตรประชาชนใบเดียวเข้าได้ทุกโรงพยาบาลนั้น ยังเป็นการพูดถึงในภาพกว้าง ไม่มีการลงรายละเอียดว่าจะยกระดับแบบไหน ทำอย่างไร หรือใช้บัตรประชาชนใบเดียวคืออะไร เพราะทุกวันนี้ผู้ป่วยก็ใช้บัตรประชาชนอย่างเดียวอยู่แล้วในการติดต่อหาหมอ ซึ่งทีมบุคลากรทางการแพทย์ก็อยากเห็นในรายละเอียดเหมือนกัน 

คนสุดท้ายคือ นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ รองนายแพทย์ สสจ. กาญจนบุรี และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี  เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ไม่ว่านโยบายจะออกมาอย่างไร ทางพื้นที่ก็พร้อมจะดำเนินการตาม แต่ตอนนี้ก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่า การยกระดับบัตรทอง มันจะออกมารูปแบบไหน แต่เชื่อว่า นพ.ชลน่าน ที่มาจากพรรคเพื่อไทย และเป็นพรรคที่เป็นต้นตำรับในการสร้างระบบบัตรทองก็น่าจะมีสิ่งที่เรียกว่าทีเด็ดที่น่าจะโดนใจประชาชน 

"ยอมรับว่าตื่นเต้น อยากเห็นว่าจะยกระดับกันอย่างไร ทีมหมอในพื้นที่เองก็พร้อมนะ ที่จะทำตามนโยบายและต้องการทำให้มันดีขึ้นเหมือนกัน" นพ.ประวัติ ระบุ

รองนายแพทย์ สสจ. กาญจนบุรี บอกอีกว่า บัตรทองเป็นสิทธิทางสุขภาพสำหรับประชาชนที่ช่วยให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่าย หากยกระดับเพื่อให้ง่ายขึ้นไปอีก ก็น่าจะดีเหมือนกัน แต่อีกด้านก็จะเป็นการฉีกระยะห่างความก้าวหน้ากับอีก 2 กองทุนสุขภาพด้วย ซึ่งก็ต้องดูนโยบายหลักว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยหรือไม่อย่างไร 

แต่ทั้งนี้ คาดว่านโยบายจะมุ่งมาที่การยกระดับบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลชุดก่อนๆ จะพุ่งเป้ามายังการยกระดับหน่วยบริการระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยเฉพาะการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะเห็นการทำงานที่ราบรื่นมากขึ้นด้วย เพราะจะมีบูรณาการกันระหว่าง สธ. และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่มองภาพกว้างของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ จะให้ประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศมากขึ้น