ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนเกิดความรู้สึกผิดแปลกออกไปจากความปกติ นั่นคือ ‘ง่วงตลอดเวลา’ และพร้อมจะง่วงทันทีที่ตื่นนอน

แม้ว่าจะนอนแล้วนอนอีก นอนมากถึงวันละ 8-10 ชั่วโมง แต่ก็ยังง่วง และอย่างที่บอกไปในบรรทัดข้างต้น คือ ง่วงตลอดเวลา-ง่วงตลอดทั้งวัน

เคยมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ หากแต่นานวันเข้า ความง่วงได้เข้ามาสร้างความปั่นป่วน และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรง 

ผู้เขียนเริ่มสมาธิสั้น มึนงน ใช้ชีวิตด้วยความรู้สึก ‘เมาตลอดเวลา’ แม้จะไม่ได้จิบแอลกอฮอล์เลยก็ตาม

มีความพยายามอย่างมากในการต่อสู้กับความง่วงและความเมานี้ ประการแรกคือการ ‘ดื่มกาแฟ’ จากเดิมที่ดื่มเพียงวันละ 1 แก้ว ก็เพิ่มเป็น 2-3 แก้ว จากเดิมที่ดื่มกาแฟในปริมาณปกติ ก็เริ่ม ‘เพิ่มช็อตกาแฟ’ ในทุกๆ แก้วที่ดื่ม

1

มากไปกว่านั้น ผู้เขียนยังเริ่มดื่ม ‘เครื่องดื่มชูกำลัง’ ประกอบเข้าไปด้วย แต่นั่นก็ยังไม่สามารถช่วยให้ร่างกายปลดเปลื้องพันธนาการจาก ‘ความง่วง’ ไปได้ หนำซ้ำเริ่มรู้สึกว่าสุขภาพเริ่มย่ำแย่ลงทุกที

นอกจากความง่วง ความมึนงง และความเมาแล้ว ในตอนกลางคืนเวลานอนหลับ พบว่าผู้เขียน ‘นอนหลับได้ง่าย’ กว่าปกติเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่า ‘นิ่งเป็นหลับ’ อย่างไรก็อย่างนั้น

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไร เพราะเมื่อหลับไปแล้ว ร่างกายกลับสำแดงฤทธิ์ด้วย ‘เสียงกรน’ ที่ผิดปกติออกไปอีก

กล่าวคือกรนเป็นเมโลดี้ที่ไร้ซึ่งจังหวะ ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงอย่างรุนแรง เสียงดังคล้ายกับคนจะขาดใจตาย แต่แล้วจู่ๆ ทุกอย่างก็เงียบลงไป คล้ายกับหยุดหายใจ-จะขาดใจตายอยู่ดี

อาการเหล่านี้ มีคำอธิบายทางการแพทย์อยู่ แต่ที่ผ่านมาผู้เขียนไม่ได้สนใจ เพราะมองว่าเป็นเรื่องปกติ

ที่จริงแล้ว นี่คือความผิดปกติอย่างร้ายแรง และเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเพศไหน อ้วนหรือผอมก็ตาม

เพราะอาการนอนกรน มีความสัมพันธ์กับ ‘โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น’ หรือที่เรียกว่า Obstructive Sleep Apnea (OSA) ด้วย แต่ก็ไม่เสมอไป

หากคุณกำลังประสบกับปัญหา หรือมีอาการเช่นเดียวกับผู้เขียน ขอเชิญร่วมฟังคำอธิบายแบบง่ายๆ จาก นพ.ฉัตรกรินทร์ เทพวิมลเพชรกุล จากหน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ถึงเรื่องนี้

3

นพ.ฉัตรกรินทร์ อธิบายว่า ‘การนอนกรน’ เกิดจากการที่เราหายใจเข้า แล้วบังเอิญลมหายใจของเราไปถูกอวัยวะบางอย่าง อาจเป็นลิ้นไก่หรือว่าลิ้น ทำให้เกิดการกระพือจนมีเสียงกรนออกมา บางคนทำงานจนเหนื่อยก็อาจทำให้มีอาการนอนกรนได้เป็นธรรมดา นั่นไม่ได้หมายความว่า ร่างกายของเรากำลังมีปัญหาเสมอไป

ปัญหาจากการนอนกรนจะต้องประกอบกับสาเหตุอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเสียงนอนกรนที่ดังผิดปกติและมีปัญหาเรื่องของการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วร่วมด้วย อาจเป็นอาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการอุดกั้น (OSA)

โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับฯ นี้ เมื่อเป็นแล้วจะทำให้ออกซิเจนที่เราได้รับเวลานอนหลับตกเป็นช่วงๆ อธิบายโดยง่ายก็คือ ออกซิเจนเข้าไปสู่สมองไม่พอ เพราะเราหยุดหายใจขณะนอนหลับ

นั่นทำให้ส่งผลเสียต่อสมอง ทำให้ตื่นตัวบ่อย นอนหลับอย่างไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการตามมา เช่น ตื่นมารู้สึกไม่สดชื่น

ปกติแล้วคนเราควรจะนอนประมาณ 7-9 ชั่วโมง เมื่อนอนได้ไม่เต็มที่ ประสิทธิภาพการทำงานในระหว่างวันก็จะน้อยลง แต่ในบางคนมีอาการระหว่างคืน เช่น อาการหลับๆ ตื่นๆ ระหว่างคืน หรือมีปัญหาสะดุ้งตื่นขึ้นมาสำลักน้ำลาย

2

หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงเป็นโรค OSA  ควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด โดยตัวอย่างอาการและความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ ได้แก่ 1. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว โรคความดันโลหิตสูง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโดยเฉพาะคนที่เป็นโรคความดันในอายุน้อย หรือการเป็นความดันที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งโรคนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันที่ผิดปกติดังกล่าว 

2. มีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน ตื่นนอนมาไม่สดชื่น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการนอนอย่างเพียงพอ และ 3. ระหว่างนอนมีปัญหากรนเสียงดังหรือว่ามีอาการหยุดหายใจ ส่วนอาการที่เราจะพอสังเกตได้ หรือว่าสัมผัสกับตัวเองก็คือการตื่นมาเหมือนสำลักน้ำลายระหว่างคืน

“อาการนอนกรนที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นโรคเดียวกับโรคไหลตาย แต่ความเป็นจริงแล้วไม่เหมือนกัน โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นไม่ทำให้หลับแล้วไหลตาย หรือเสียชีวิตไปเลย คนที่เป็นโรคนี้เมื่อเราหยุดหายใจไป ออกซิเจนเราก็จะตก แล้วร่างกายเราก็จะมีกระบวนการในการกระตุ้นให้เราตื่นเอง อย่างบางคนก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาระหว่างคืน ซึ่งเป็นธรรมชาติของโรคนี้” นพ.ฉัตรกรินทร์ กล่าว

ในการรักษาอาการนอนกรนมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับระดับอาการว่ามีภาวะการนอนกรนในระดับใด เป็นการกรนธรรมดา หรือมีภาวะหายใจแผ่ว แล้วก็หยุดหายใจหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยการตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test เพราะการให้คำแนะนำในการรักษาของอาการในแต่ละระดับนั้นไม่เหมือนกัน
  ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่คนไข้มีปัญหาเรื่องของหยุดหายใจรุนแรงร่วมกับออกซิเจนในเลือดตก ต้องมีการรักษาโดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกหรือว่าเครื่อง CPAP 

3

ในทางกลับกันหากมีอาการนอนกรนหยุดหายใจหรือว่าหายใจแผ่วแค่เล็กน้อย วิธีในการรักษาจะทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน การใส่อุปกรณ์ทันตกรรม หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการนอนหงายมาเป็นนอนตะแคง วิธีเหล่านี้เองเป็นวิธีรักษาที่ต้องปรับตามอาการของคนไข้ 

คนที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับฯ แล้วไม่ทำการรักษา นอกจากจะทำให้เรามีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน ทำงานได้ประสิทธิภาพไม่เต็มร้อย ยังพบว่าในคนที่เป็นรุนแรง ก็จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต อาจจะมีเกี่ยวข้องกับสมองเสื่อม รวมถึงในเรื่องของภาวะดื้อต่ออินซูลินของเบาหวาน การศึกษาพบว่าในบางรายที่มีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า แล้วเป็นโรคนอนกรน ถ้ารักษาควบคู่กันไป ก็จะทำให้อาการที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าคุมได้มากขึ้น 

นพ.ฉัตรกรินทร์ ระบอีกว่า พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเรามีผลต่อการกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนและโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยตัวอย่างพฤติกรรมหรือปัจจัยกระตุ้นในเกิดโรคได้แก่

1. น้ำหนักตัว โดยพบว่าในคนที่มีน้ำหนักตัวมากจะมีผลต่อภาวะหรือความรุนแรงของอาการนอนกรน ไปจนถึงการเป็นโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เพราะฉะนั้นการที่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกาย การจํากัดอาหาร ก็อาจจะช่วยในเรื่องของความรุนแรงของโรคได้ 

4

2. การดื่มแอลกอฮอล์ มีผลต่อการเกิดอาการกรน เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้มีความสามารถในการตึงตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนของเราแย่ลง ทำให้หลายคนมักมีอาการกรนมากกว่าเดิมหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

3. ท่าการนอน ปกติแล้วโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จะเป็นมากที่สุดตอนท่านอนหงาย เนื่องจากเวลาเรานอน ลิ้นหรือลิ้นไก่หรืออวัยวะบริเวณช่องคอจะตกตามแรงโน้มถ่วงของโลก ดังนั้นจึงต้องอาศัยการเปลี่ยนไปนอนตะแคงข้าง เพราะการนอนตะแคงจะทำให้ทางเดินหายใจถูกเปิด จะทำให้นอนได้ต่อเนื่องมากขึ้น 

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของเราส่งผลต่อภาวะการนอนกรน ดังนั้นเราสามารถดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดหรือบรรเทาอาการนอนกรนได้ เช่น การนอนให้เป็นเวลา การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

หนึ่งในสถานบริการที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงก็คือ ‘ศูนย์การนอนหลับธรรมศาสตร์’ โดยผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นอาการนอนกรน ไปจนถึงหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) หรือมีปัญหาสุขภาพการนอนหลับที่อยากปรึกษา เข้ารับการวินิจฉัยรักษา ศูนย์การนอนหลับธรรมศาสตร์ อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ตอบโจทย์นั้น

“ปัจจุบันโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีศูนย์การนอนหลับธรรมศาสตร์ ให้บริการ ซึ่งจะให้การตรวจโดยมีแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับโรคการนอนหลับ โดยเป็นศูนย์การนอนหลับที่เป็น 1 ใน 8 ของประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานการตรวจคุณภาพจากสมาคมโรคการนอนหลับแห่งประเทศไทย” นพ.ฉัตรกรินทร์ ระบุ