ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะผู้บริหารมูลนิธิองค์การสหประชาชาติ (UN Foundation) ได้เปิดเผยถึง 5 ประเด็นที่น่าจับตามอง ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 78 (The 78th UN General Assembly หรือ UNGA 78) ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-26 ก.ย. 2566 ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โ

การประชุมนี้ ผู้นำโลกจะร่วมพูดคุยถึงความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) การลดโลกร้อน และการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งหน้า

สำหรับการประชุมระหว่างประเทศสมาชิกครั้งนี้ จะเป็นแบบพบหน้ากันอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ต้องจัดในรูปแบบออนไลน์หรือผสมผสานตลอดช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ มูลนิธิองค์การสหประชาชาติ ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนการประชุมนี้ ได้เปิดเผยข้อมูลว่าการประชุมครั้งนี้จะยิ่งใหญ่กว่าที่ผ่านมา เพราะมีเวทีคู่ขนานหลายเวที เช่น เวทีประชุมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) การประชุมระดับสูงด้านสุขภาพ (High-Level Meetings on Health) และเวทีเป้าหมายการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit)

ทั้งหมดนี้จึงทำให้การประชุม UNGA 78 น่าติดตาม โดยเฉพาะใน 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

1. จับตาความเคลื่อนไหวนานาประเทศ หลังผ่านครึ่งแรกการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

การประชุมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะจัดขึ้นในระหว่างการประชุม UNGA 78 จะมีการพิจารณาความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของแต่ละประเทศ และสิ่งที่จะทำในอีก 7 ปีข้างหน้า จนกระทั่งปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่ทุกเป้าหมาย SDGs ต้องบรรลุผล

จูลี่ โคฟูด (Julie Kofoed) ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า อยากเห็นประเทศสมาชิก “ปฏิบัติการ” เพื่อบรรลุเป้าหมายได้จริงในอีก 7 ปีข้างหน้า หลังจากที่ให้คำมั่นสัญญามาตั้งแต่ปี 2558 

เธอคิดว่าจะเกิดความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อเลขาธิการสหประชาชาติขอให้ประเทศสมาชิกนำเกณฑ์ตัวชี้วัด แผนงาน และความคืบหน้าในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนมาคุยในระหว่างการประชุม เช่นเดียวกับการประชุมโลกร้อนในปีนี้ ที่ทุกประเทศต้องนำความก้าวหน้ามารายงานให้ประเทศสมาชิกทราบ

โคฟูด เน้นย้ำว่า การนำแผนงานและเป้าหมายมากางคุยกันบนโต๊ะ เป็นวิธีการใหม่ที่ไม่เคยใช้ในการประชุมด้าน SDGs ที่ผ่านมา เธอหวังว่าทุกประเทศสมาชิกจะนำข้อมูลนี้มาพูดคุยกันอย่างจริงจัง โดยมีประเทศตัวอย่าง เช่น ฟินแลนด์ และเยอรมนี ที่มีแผนปฏิบัติการในการบรรลุเป้าหมาย SDGs อย่างชัดเจน

1

2. ติดตามความชัดเจนของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติ แอนโทนิโอ กูเตียเรส (António Guterres) ประกาศจัดการประชุมเป้าหมายการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ในระหว่างการประชุม UNGA 78 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้า โดยหวังผลเร่งการทำงานของผู้นำและภาคส่วนต่างๆ ในการควบคุมอุณหภูมิโลก รวมทั้งสร้างแรงกดดันให้กับประเทศที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาลดโลกร้อน

พีท อ็อกเดน (Pete Ogden) รองประธานด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ มูลนิธิองค์การสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในเป้าหมาย SDGs ที่ต้องอาศัยการลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง 

เขาเสนอให้ผู้นำที่จะเข้าร่วมการประชุมการพัฒนาที่ยั่งยืน ใช้โอกาสนี้ในการบูรณาการเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้ากับเป้าหมาย SDGs ในด้านอื่นๆ เพราะทุกเป้าหมายมีความเชื่อมโยงและส่งเสริมกัน

ขณะเดียวกัน ผู้นำบางประเทศจะใช้โอกาสนี้ในการประกาศเป้าหมายลดโลกร้อน ซึ่งอ็อกเดน คาดหวังว่าประเทศสมาชิกรายใหญ่ เช่น จีน จะประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยิ่งใหญ่และทะเยอทะยานขึ้น

2

3. ทบทวนบทเรียนจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เคท ดอดสัน (Kate Dodson) รองประธานฝ่ายยุทธศาสตร์สุขภาพโลก มูลนิธิองค์การสหประชาชาติ ระบุว่าในระหว่างการประชุม UNGA 78  จะมีการประชุมระดับสูงด้านสุขภาพ (High-Level Meetings on Health) เน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาด การสร้างประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) และการขจัดวัณโรค

ดอดสัน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้เราสามารถผ่านช่วงโควิดระบาดมา 3 ปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่เห็นความชัดเจนของฝ่ายการเมือง ในการแก้ไขต้นตอที่ก่อให้เกิดความล้มเหลวในการรับมือโรคระบาด โดยเฉพาะความติดขัดในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสข้ามประเทศ และขาดความเร่งด่วนในการเตรียมพร้อมต่อการรับมือโรคระบาดครั้งหน้า

“เวลาที่ผ่านมา 3 ปีครึ่ง ให้บทเรียนว่า เราต้องมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็งและสามารถดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องแม้ในสถานการณ์วิกฤต รวมทั้งเห็นความจำเป็นของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน” ดอดสันกล่าว

ดังนั้น การประชุมเวทีสุขภาพที่จะเกิดขึ้น ผู้นำจากมากกว่า 130 ประเทศ ต้องผลักดันให้ประเด็นการรับมือโรคระบาดเป็นวาระการพูดคุยหลัก และให้คำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มศักยภาพในการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อโรคระบาด ทั้งในระดับชาติ ไปจนถึงระดับภูมิภาคและชุมชน

4. เปิดแผนจัดเวทีแห่งอนาคต (Summit of the Future)

ในระหว่างการประชุม UNGA 78 จะมีการหารือจัดเวทีแห่งอนาคต (Summit of the Future) ในปี 2567 ซึ่งเน้นความสำคัญของเป้าหมาย SDGs ในฐานะการลงทุนที่คุ้มค่าต่อประชากรรุ่นใหม่ในอนาคต 

เดวิด สตีเฟน (David Steven) นักวิชาการอาวุโสด้านอนาคตแห่งการร่วมมือระหว่างประเทศ มูลนิธิองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า การหารือนี้เป็นโอกาสที่จะสร้างอนาคตให้กับประชากรกว่า 8 พันล้านคนทั่วโลกที่กำลังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และอีก 8 พันล้านคนในรุ่นต่อไป โดยใช้เป้าหมาย SDGs เป็นสะพานเชื่อมไปสู่การสร้างอนาคตที่ดี

“เราต้องพิจารณาสร้างระบบระหว่างประเทศ ที่สามารถช่วยประเทศสมาชิกในการคิด วางแผน และดำเนินการสำหรับการสร้างอนาคต เพราะประเทศที่มีประชากรรุ่นใหม่มาก มักจะขาดศักยภาพในการคิดและวางแผนระยะยาว” สตีเฟน ให้ความเห็น

“การทำงานร่วมกันผ่านระบบระหว่างประเทศ เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราเปลี่ยนผ่านจากปัจจุบัน ที่กลุ่มคนรุ่นก่อนและชนชั้นนำที่ร่ำรวยมีอิทธิพลต่อวาระทางการเมือง ซึ่งสร้างผลกระทบให้คนรุ่นใหม่ และคนรุ่นต่อไปที่ยังไม่เกิดมาดูโลก”

2

5. ยกระดับการพูดคุยในประเด็นความเท่าเทียม

ความเท่าเทียมเป็นศูนย์กลางของทุกประเด็นในการประชุม UNGA 78 ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพ 

อย่างไรก็ดี มิเชล มิลฟอร์ด มอร์ส (Michelle Milford Morse) รองประธานผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์เด็กสาวและผู้หญิง มูลนิธิองค์การสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า การทำให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นได้จริง ผู้นำต้องลงมือทำ มากกว่าที่จะพูดให้คำมั่นสัญญาลอยๆ

ทั้งนี้ เธอต้องการเห็นผู้นำพูดคุยลงลึกไปถึงกลไกทางการเงินที่ใช้ผลักดันโครงการสร้างความเท่าเทียมต่างๆ

“ฉันต้องการเห็นรัฐบาลจัดหาทรัพยากรสำหรับการทำโครงการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อไฟในการผลักดันประเด็นความเท่าเทียมในด้านอื่นๆ ไม่เพียงแต่ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศไม่ได้รับงบประมาณที่เพียงพอ มันยังถูกละเลยบ่อยครั้ง” มอร์ส กล่าว

เธอสังเกตเห็นว่า วาระการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในแต่ละปี มักมีจำนวนผู้นำหญิงน้อย และละเลยประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ มีเพียง 12% ของผู้พูดในการอภิปรายทั่วไปที่เป็นผู้หญิง สะท้อนว่าการประชุมยังขาดมุมมองอีกหลายด้าน 

อ้างอิง :
https://unfoundation.org/blog/post/experts-discuss-what-to-expect-at-the-un-general-assembly-in-2023/