ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ลิ้น’ และ ‘จมูก’ เป็นหนึ่งในอวัยวะประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ช่วยให้มนุษย์รับรู้ถึง รส และ กลิ่น ได้ ซึ่งจากประสบการณ์ของทุกคนก็คงรู้ว่า 2 สิ่งนี้ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเชื่อว่าเราคงไม่สามารถกลั้นหายใจและแลบลิ้นเพื่อรับกลิ่นได้ หรือในทางกลับกันก็ตาม อีกทั้งเวลาต้องกินยาสมุนไพรที่มีกลิ่นแรงการบีบจมูกจนแดงเพื่อกลืนยายังช่วยได้อีกด้วย

แต่รู้ไหมว่าความเชื่อดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะเมื่อปี 2562 เว็บไซต์ต่างประเทศอย่าง LIVESCIENCE ได้เผยแพร่บทความ ‘The 10 Weirdest Science Studies of 2019’ หรือ ‘10 สิ่งวิจัยวิทยาศาสตร์ที่แปลกที่สุดในปี 2562’ ซึ่งเรียบเรียงโดยบรรณาธิการสายสุขภาพอย่าง นิโคเลตต้า ลานีส (Nicoletta Lanese) โดยหนึ่งในหัวข้อที่น่าทึ่งมากที่สุดคือ ‘Your tongue can smell like a nose can’ หรือ ‘ลิ้นก็ได้กลิ่นไม่แพ้จมูก’ 

ที่ได้อ้างอิงจากการค้นพบในปีเดียวกัน ของนักวิจัยจากศูนย์ประสาทรับสัมผัสทางเคมีโมเนล (Monell Chemical Senses Center) สหรัฐอเมริกา ที่ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ ทำการวิจัยเรื่อง ‘Mammalian Taste Cells Express Functional Olfactory Receptors’ 

ผลการวิจัยพบว่า ระบบการทำงานของต่อมรับรส (Olfactory receptors) ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ที่ตรวจจับกลิ่นในจมูกนั้น มีอยู่ในเซลล์รับรสของมนุษย์ที่มักจะพบที่ลิ้นด้วย 

อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างประสาทสัมผัสของกลิ่นและรสชาติ ซึ่งเป็นส่วนหลักของการรับรสชาติอาหาร อาจจะเริ่มต้นที่ลิ้น โดยไม่ใช่แค่เพียงอาศัยหลักการทำงานของสมองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

สำหรับการทดลองดังกล่าวนักวิจัยได้ใช้เทคนิคทางพันธุกรรมและทางชีวเคมี เพื่อตรวจสอบหาสมมติฐานว่าต่อมรับรสของหนูที่เรียกว่า ‘เซลล์ตุ่มรับรส’ ว่าหนูจะตอบสนองต่อโมเลกุลของกลิ่นได้หรือไม่ โดยทดลองหนูทดลอง 3 กลุ่ม ซึ่งประกอบไปด้วย หนูที่ดัดแปลงพันธุกรรม ชนิด mOR-EG-GFP หนูดัดแปลงพันธุกรรม ชนิด mOR-M71-GFP และหนูสายพันธุ์ป่าที่แตกต่างกัน 2 สายพันธุ์ (129/Sv และ C57BL/6)  

จากนั้นพวกเขาทดสอบการเพาะบ่มเชื้อในห้องปฏิบัติการของเซลล์ตุ่มรับรสจากเชื้อราของมนุษย์ผลลัพธ์ที่ออกมา พบว่า เซลล์ตุ่มรับรสของหนูและเซลล์ตุ่มรับรสของมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงไว้นั้น ประกอบด้วยตัวรับกลิ่นจริงๆ 

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ลองใช้อีกเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า ‘การถ่ายภาพแคลเซียม’ เพื่อประเมินว่าเซลล์รับรสที่เลี้ยงไว้ตอบสนองต่อโมเลกุลของกลิ่นได้อย่างไรบ้าง ซึ่งทำแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เซลล์รับรสของลิ้นมีปฏิสัมพันธ์กับโมเลกุลของกลิ่นในลักษณะที่คล้ายคลึงกับเซลล์รับกลิ่นของจมูก

การทดลองในเทคนิคดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเซลล์รับรสหนึ่งเซลล์สามารถมีตัวรับทั้งกลิ่นและรสชาติ ซึ่งอาจช่วยยืนยันให้เข้าใจมากขึ้นว่ารสชาติและกลิ่นทำงานร่วมกัน 

อ้างอิง :  
https://www.livescience.com/65308-your-tongue-smells-like-a-nose.html 
https://academic.oup.com/chemse/article/44/5/289/5470701?login=false