ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รู้หรือไม่ว่า “โรคมะเร็งเต้านม” คือสาเหตุอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตหญิงไทยไปในแต่ละปี อีกทั้งในปัจจุบันจากบรรดาโรคมะเร็งทุกชนิดผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมยังมีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดอีกด้วย โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ในปี 2565 มีมากถึง 38,559 ราย 

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าว เพราะสถานการณ์ในระดับโลกก็ไม่ต่างกันนัก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ปี 2563 พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.3 ล้านคน และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิตราว 685,000 คนต่อปี

แม้ ‘สาเหตุ’ จริงๆ ของการเกิดมะเร็งเต้านมจะยังไม่มีองค์ความรู้ที่สามารถชี้ได้แน่ชัด แต่ก็มีการค้นพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นเหตุให้เกิดนั้นมีอะไรบ้าง เช่น รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ ความผิดปกติทางพันธุกรรม อายุที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งปัจจัย ซึ่งหลายคนคงคาดไม่ถึงก็คือ สารพาราเบน (Paraben) หรือที่รู้จักในนามสารกันเสีย ที่พบได้ตามผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์กันแดด หรือแม้แต่ในอาหาร

ในปี 2562 นักศึกษาในสหรัฐอเมริกาได้ทำการวิจัยร่วมกันในหัวข้อ “Urinary concentrations of environmental phenols and their associations with breast cancer incidence and mortality following breast cancer” โดยทดลองวิจัยเกี่ยวกับสารพาราเบนด้วยการตรวจปัสสาวะเพื่อหาปริมาณความเข้มข้นของสารพาราเบนในปัสสาวะของกลุ่มผู้ทดลอง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่ไม่มีโรคมะเร็งเต้านม กับกลุ่มคนที่เป็นมะเร็งเต้านม 

2

ผลวิจัยพบว่า ปริมาณอัตราความเข้มข้นของสารพาราเบน นั่นก็คือ เมธิลพาราเบน (methylparaben) และ  โพรพิลพาราเบน (propylparaben) ของกลุ่มคนที่เป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านม จากผลทดลองดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณสารพาราเบนส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม และการวิจัยนี้อาจจะสมมติฐานได้ว่าสารพาราเบนนั้นอาจจะส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านมได้

อีกหนึ่งการศึกษาที่ผลออกมาในทำนองเดียวกัน คืองานวิจัยของนักศึกษาจากคณะสาธารณสุข มหาวิทยาเทนเนสซี เรื่อง “Minireview: Parabens Exposure and Breast Cancer” เผยแพร่ในปี 2565 ได้ตรวจพบสารพาราเบนที่ไม่ย่อยสลายในเนื้อเยื่อของเนื้องอกเต้านมโดยคิดเป็น 62% ของพาราเบนในเนื้อเยื้อของเนื้องอกเต้านมทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้เปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์ของ FDA ยังคงทบทวนในเรื่องของการเผยแพร่เกี่ยวกับข้อมูลความปลอดภัยของการใช้สารพาราเบน ซึ่งในขณะนี้ยัง ‘ไม่มีข้อมูล’ ชี้ชัดว่าสารพาราเบนที่ใช้ในเครื่องสำอางจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่ 

ดังนั้นจึงยังคงอนุญาตให้เติมสารพาราเบนลงในอาหารหรือบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อใช้เป็นยาต้านจุลชีพเพื่อป้องกันการเน่าเสียของอาหารได้อย่างไม่เป็นปัญหาใดๆ 

ทว่า หลังจาก FDA ออกมาระบุเช่นนั้น ทาง สหภาพยุโรป (EU) ก็ได้ออกมาเสริมในลักษณะที่ว่า ถึงจะสามารถใช้ได้แต่ก็ไม่ควรใช้มากเกินไป และกำหนดเงื่อนไขการใช้สารพาราเบนโดยให้เลือกสารกันเสีย 1 ชนิดเท่านั้น และอัตราส่วนต้องไม่มากไปกว่า 0.4% และในกรณีที่ใช้สารกันเสียหลายชนิดร่วมกัน ก็อนุญาตให้อัตราส่วนไม่มากไปกว่า 0.8% 

แม้เรื่องของการใช้สารพาราเบนจะยังไม่มีข้อยุติว่าส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่ และยังต้องการข้อมูลอีกหลายด้านว่าแท้จริงแล้วการใช้สารพาราเบนนั้นควรใช้ปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม และปลอดภัยมากน้อยขนาดไหน แต่ในทางกลับกันด้วยเหตุนั้นเองผู้หญิงทุกคนจึงควรต้องยิ่งระวังและใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

อ้างอิง : 
https://www.womenshealth.gov/node/1374 
https://www.who.int/news-room/commentaries/detail/ten-
https://www.cdc.gov/biomonitoring/Parabens_FactSheet.html
https://www.fda.gov/cosmetics/cosmetic-ingredients/parabens-cosmetics
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31228785/