ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเกิดขึ้นของโควิด-19 ในแง่หนึ่งได้ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านการให้บริการสาธารณสุข ที่ต่อมาช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาได้สะดวกยิ่งขึ้น 

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ “พบแพทย์ออนไลน์” (Telemedicine) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดกันมานาน แต่โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้บริการนี้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง บางโรงพยาบาลได้นำระบบเทเลเมดิซีนมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เพื่อลดการเดินทางและลดความแออัดในโรงพยาบาล

รวมไปถึงในภาพใหญ่ขึ้นมาอย่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้จัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ให้สามารถพบแพทย์ออนไลน์แล้วจัดส่งยาไปให้ถึงที่บ้าน ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทาง ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ อีกทั้งยังช่วยให้มีเตียงเหลือสำหรับคนที่จำเป็นอย่างผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงด้วย

รวมถึงหลังจากโควิด-19 ถูกประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น สปสช. ก็ไม่ได้ให้หยุดบริการ ในทางกลับกันยังได้ต่อยอดขยายการดูแลไปยังโรคทั่วไปที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 42 กลุ่มอาการ (Common Illnesses) โดยเริ่มนำร่องให้บริการแก่ผู้มีสิทธิบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา 

มากไปกว่านั้น ภายหลังได้เสียงตอบรับจากประชาชนค่อนข้างดี ทำให้ สปสช. ตัดสินใจขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มใน 5 จังหวัดปริมณฑลอีกด้วย

3

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลังจากที่ สปสช. ได้เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หากมีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น 42 กลุ่มโรค  สามารถรับบริการเทเลเมดิซีนพร้อมจัดส่งยาถึงบ้าน โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้านสุขภาพ 4 ราย คือ 1. Clicknic (คลิกนิก) 2. โททอลเล่เทเลเมด (Totale Telemed) 3. MorDee (หมอดี) และ 4. Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากประชาชนค่อนข้างดี โดยให้บริการผู้ป่วยไปแล้ว 13,868 คน 31,522 ครั้ง และผู้ป่วยที่เคยใช้บริการไปแล้ว กลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง สะท้อนว่าบริการนี้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยในแง่ของความสะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดความแออัดและลดเวลารอคอยที่หน่วยบริการ

ด้วยเหตุนี้ สปสช. จึงได้ขยายบริการดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น 42 กลุ่มโรคผ่านระบบเทเลเมดิซีน ให้ครอบคลุมไปยัง 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม โดยตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป ประชาชนสิทธิบัตรทอง ที่อยู่ใน 5 จังหวัดดังกล่าว เมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้นสามารถพบหมอออนไลน์พร้อมรอรับยาที่บ้านได้ โดยบริการนี้จะครอบคลุมผู้มีสิทธิบัตรทองทั้งหมดไม่ว่าจะมีหน่วยบริการประจำอยู่ที่ไหน หากเดินทางมาทำธุระใน กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑล รวมทั้งมีที่อยู่ที่สามารถจัดส่งยาให้ แล้วเกิดอาการเจ็บป่วยใน 42 กลุ่มโรค ก็สามารถพบแพทย์ผ่านระบบเทเลเมดิซีนได้

ด้าน นายนีล นิลวิเชียร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จำกัด ผู้ให้บริการเทเลเมดิซีนผ่านแอปพลิเคชัน Clicknic กล่าวว่า ภาพรวมการให้บริการในพื้นที่ กทม. พบว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เมื่อประชาชนได้ลองเข้ามารับบริการแล้วรู้สึกเซอร์ไพรส์ เพราะบริการของ Clicknic จะได้วิดีโอคอลกับแพทย์ทุกเคส ไม่มีคุยผ่านแชท ทำให้คนไข้ประทับใจและมั่นใจในการกลับมารับบริการซ้ำ เกิดการบอกต่อและอัตราการใช้บริการซ้ำสูง

2

“จากสถิติที่เราเก็บข้อมูลพบว่าคนทั่วไปจะป่วยเฉลี่ย 4 ครั้ง/ปี และจากที่เก็บสถิติมาพบว่า 2 ครั้งจะรับบริการผ่านเทเลเมดิซีน ส่วนใหญ่คือกลุ่มอาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ แสบจมูก ตาแดง ไข้หวัด กลุ่มนี้มักกลับมารับบริการบ่อย ขณะที่อีก 2 ครั้งอาจป่วยหนักต้องเข้าไปรับบริการในโรงพยาบาล ซึ่งตัวเลข 2 จาก 4 คิดว่าเป็นตัวเลขที่ดี อย่างน้อยช่วยลดความหนาแน่นในโรงพยาบาลได้ครึ่งหนึ่ง”นายนีล กล่าว

ในส่วนของการขยายพื้นที่ให้บริการอีก 5 จังหวัดนั้น นายนีล กล่าวว่า เนื่องจาก Clicknic มีจุดเด่นตรงที่ 1. ได้วิดีโอคอลกับแพทย์ทุกเคส 2. ระยะเวลาในการจัดส่งยา เฉลี่ยแค่ 3 ชม. เพราะฉะนั้น เมื่อ สปสช. จะขยายพื้นที่บริการเพิ่ม สิ่งที่ต้องเตรียมการเพิ่มคือเพิ่มจำนวนแพทย์เพื่อให้เพียงพอผู้ป่วยได้วิดีโอคอลคุยกับแพทย์ทุกเคส รวมทั้งเพิ่มจำนวนจุดกระจายยาในพื้นที่ปริมณฑล เพราะ Clicknic ตั้งใจว่าจะต้องจัดบริการให้ได้ระยะเวลาในการพบแพทย์ ระยะเวลาการจัดส่งยา ไม่เกิน 3 ชม. เหมือนใน กทม. ด้วย

พญ.สมิฏภาฐ์ จงมหาภูดิฏฐ์ ผู้บริหารโททอลเล่เทเลเมด (Totale Telemed) กล่าวว่า ในระยะที่ผ่านมา กราฟจำนวนผู้รับบริการในกลุ่มโรคทั่วไปของ Totale Telemed มีลักษณะค่อนข้างพุ่งสูง ผู้รับบริการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มอาชีพอิสระ ที่มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไข้หวัด โควิด-19 โรคกระเพาะ ภูมิแพ้ แต่ที่ได้รับผลตอบรับดีมาก คือกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมซึ่งได้รับเสียงสะท้อนว่ายาดี ทานแล้วหายปวด จนเกิดการบอกต่อ มีการเข้ามาคอมเมนต์ในเพจของโททอลเล่ในแง่ดี บางคนก็เข้ามาช่วยแชร์ ช่วยตอบคำถามให้แทนแอดมิน เหมือนเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ แห่งหนึ่งเลยทีเดียว 

“ที่สำคัญเมื่อเขาเห็นว่าทานยาแล้วหาย เวลาเจ็บป่วยครั้งต่อไปเขาก็จะมองหาว่าเราดูแลโรคไหนอีกบ้าง ทำให้อัตราการรับบริการซ้ำค่อนข้างดี”พญ.สมิฏภาฐ์ กล่าว

พญ.สมิฏภาฐ์ กล่าวอีกว่า การขยายพื้นที่ให้บริการในอีก 5 จังหวัด Totale Telemed มีความพร้อมให้บริการเต็มที่เพราะในช่วงที่โควิด-19 ก็ให้บริการดูแลทั่วประเทศอยู่แล้ว การขยายพื้นที่อีก 5 จังหวัดถือเป็นหน่วยเล็กๆ เมื่อเทียบกับระดับประเทศ แต่ที่อยากให้ดำเนินการจริงๆ คือขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศไปเลย เพราะยังมีคนที่อยู่ต่างจังหวัดในพื้นที่ห่างไกล ยากลำบากต่อการเดินทางที่ต้องการบริการนี้ แม้ว่าสิทธิบัตรทองจะไม่เก็บค่ารักษาแต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เราเจอเยอะมากที่ผู้ป่วยต้องจ้างรถเข้ามาหาหมอในเมือง หรือต้องหยุดงานขาดรายได้เพื่อมาพบแพทย์ 

“คำว่าการแพทย์ทางไกลต้องไกลจริงๆ ถ้าขยายบริการให้ทั่วประเทศจะทำให้ระบบเทเลเมดิซีนเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง” พญ.สมิฏภาฐ์ กล่าว

3

เช่นเดียวกับ ดร.ยศวีร์ นิรันดร์วิชย กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล พร้อมต่อยอดความร่วมมือกับ สปสช. ในการขยายบริการดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองในพื้นที่ปริมณฑล  5 จังหวัด โดยแอป MorDee (หมอดี) ได้ให้บริการประชาชนครอบคลุมทั่วประเทศอยู่แล้ว เรามีความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการให้บริการได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว

 ที่ผ่านมา แอป MorDee (หมอดี) ได้ให้บริการดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองใน กทม. ซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่า 1,000 ราย และมากกว่า 2,000 ครั้ง ส่วนใหญ่มีอาการเยื่อจมูกอักเสบจากการแพ้อากาศ   โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยพบแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากสถาบันชั้นนำได้จากทุกที่ตามเวลาที่สะดวก ครอบคลุมกว่า 20 สาขา ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต กว่า 500 คน เลือกปรึกษาได้ทั้งการโทร แชต และวิดีโอ คอล (VDO Call) และบริการส่งยาถึงบ้านตามแพทย์สั่งภายใน 2 ชั่วโมง ทั้งยังมีเภสัชกรให้คำแนะนำในการใช้ สะดวก สบาย ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้  เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับกลุ่มคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน เพิ่มโอกาสเข้าถึงการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น ทรูดิจิทัล ติดตั้งมุมสุขภาพ True HEALTH ตามห้างสรรพสินค้าทั้งค้าปลีก-ค้าส่ง หรือร้านยา กว่า 30 สาขาทั่วประเทศ และขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และพร้อมสนับสนุน สปสช.ในการขยายบริการเทเลเมดิซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป   

3

ขณะที่ นายสมเกียรติ เดชชุษณะนาถ ผู้อำนวยการด้านไอทีและพาณิชย์ บริษัท ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการเทเลเมดิซีนผ่านแอปพลิเคชัน ซาลูเบอร์ เอ็มดี ว่าในส่วนของบริษัทที่ต้องเตรียมความพร้อมในการขยายพื้นที่บริการ คือการเพิ่มจำนวนพันธมิตรร้านยา เพราะจุดสำคัญอย่างหนึ่งในการให้บริการการแพทย์ทางไกลคือการจัดส่งยาให้ไปถึงผู้รับบริการที่ไหนก็ได้ในพื้นที่ให้บริการ ซึ่งซาลูเบอร์เอ็มดีวางแนวทางให้มีร้านยาในรัศมี 5 กม. จากที่พักอาศัยของผู้ป่วยเพื่อให้จัดส่งยาได้สะดวกรวดเร็วไม่เกิน 3 ชม. ดังนั้นจึงต้องมีพันธมิตรค่อนข้างเยอะ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทยอยเพิ่มจำนวนและอบรมในเรื่องการทำงานร่วมกัน

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การรับบริการเทเลเมดิซีนนั้น สิ่งที่ประชาชนจะได้รับคือความสะดวกและลดการเดินทาง เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถนัดพบแพทย์ได้เลยโดยไม่ต้องออกไปที่โรงพยาบาลหรือคลินิก และยืนยันว่าการดูแลอาการเจ็บป่วยทั่วไปผ่านระบบเทเลเมดิซีน ให้ผลการรักษาไม่ต่างจากไปพบแพทย์ด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้มาใช้บริการเยอะๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะรักษาไม่ได้หรือเชื่อถือไม่ได้ 

“ส่วนผู้ที่ยังคิดว่าการใช้บริการจะยุ่งยากหรือไม่ ต้องบอกว่าในการใช้งานครั้งแรกอาจรู้สึกยุ่งยาก เหมือนการไปเบิกเงินผ่านตู้ ATM หรือใช้แอปฯ ของธนาคารในการชำระค่าสินค่า เราอาจต้องเรียนรู้กับมันสัก 1-2 ครั้ง ต่อไปเมื่อใช้งานจนคล่องแล้วก็จะรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดาและไม่อยากไปนั่งต่อคิวรอพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอีก”นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ 42 กลุ่มโรคที่เป็นอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เช่น กลุ่มโรคทางเดินระบบหายใจ เช่น เยื่อบุจมูกอักเสบ แพ้อากาศ ลมพิษ และโรคเกี่ยวกับปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ เจ็บตา ปวดคอ คัดจมูก ไข้หวัด กล้ามเนื้ออักเสบ ภูมิแพ้ ลมพิษ ไซนัส และโควิด 19 เป็นอาทิ

ผู้ที่สนใจใช้บริการพบหมอออนไลน์รอรับยาที่บ้าน โดยเลือกผู้ให้บริการดังนี้ 

1.แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) โดยสุขสบายคลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @Sooksabaiclinic ลงทะเบียนรับบริการได้ที่ http://www.telemed.salubermdthai.com/ 

2.แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) โดยคลิกนิกเฮลท์คลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @clicknic 

3.แอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี) โดยชีวีบริรักษ์ คลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @mordeeapp ลงทะเบียนรับบริการได้ที่ https://form.typeform.com/to/qKY8gV4X 

และ 4.โททอลเล่เทเลเมด (Totale Telemed) โดยเดอะโททอลเล่คลินิก สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @totale 

สอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง