ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อไม่นานมานี้มีประเด็นร้อนจากเหตุการณ์ ‘รถบรรทุก’ ขับขวางทาง รถพยาบาล เป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ส่งผลให้ ‘ผู้ป่วย’ ซึ่งก็คือเด็กทารกวัย 10 เดือน ที่กำลังรอคอยความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ไปถึงโรงพยาบาลไม่ทัน

ที่สุดแล้ว ทารกน้อยเสียชีวิต

ถ้าว่ากันตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 นั้น คนขับรถบรรทุกผิดอย่างเต็มประตู เพราะในมาตรา 76 วรรค 2 ระบุไว้ว่า หากเห็นรถฉุกเฉินกำลังปฏิบัติหน้าที่มีแสงไฟวับวาบ เปิดเสียงสัญญาณไซเรน ถ้าเป็นผู้ขับขี่ต้องหยุดรถทันที ถ้ามีช่องเดินรถอยู่ทางซ้ายให้หักหัวรถเพื่อชิดซ้าย ถ้ามีช่องเดินรถทางขวาก็หักหัวรถเพื่อชิดขวา แต่ห้ามจอดรถกลางสามแยกหรือสี่แยก

ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 500 บาท แต่กรณีที่ขับรถกีดขวางทางรถพยาบาลฉุกเฉินแล้วทำให้ผู้ป่วยในรถพยาบาลถึงแก่ชีวิต อาจเข้าข่ายความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือกระทำโดยเจตนาฆ่า ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่แสดงออก ณ ขณะนั้น

ทว่า ก็มีหลายคนตั้งคำถามว่า ถ้าสิ่งสำคัญคือการไปส่งผู้ป่วยอย่างเร่งด่วนที่สุด เหตุใดรถพยาบาลจึงไม่ปาดแซงไปเลย ?

นั่นเพราะเพราะกฎหมายฉบับดังกล่าวให้อำนาจไว้ คือกำหนดให้รถพยาบาลฉุกเฉินได้รับการยกเว้นในการปฏิบัติตามกฎหมายเมื่อมีเหตุจำเป็นฉุกเฉินอยู่ด้วย เช่น การขับรถเร็วกว่ากำหนด การฝ่าไฟแดง การขับย้อนศร ฯลฯ 

เพื่อหาคำตอบของคำถาม “The Coverage” จึงขอพาทุกคนร่วมไขข้อสงสัยเรื่องนี้กับ รศ.ดร.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 

2

ทำความเข้าใจ รถพยาบาล เบื้องต้น

นพ.ไชยพร เริ่มอธิบายว่า รถพยาบาลฉุกเฉินในประเทศไทยจะเรียกกำลังรถพร้อมกับกำลังเจ้าหน้าที่ว่า ‘ชุดปฏิบัติการ’ ซึ่งทุกชุดจะมีเจ้าหน้าที่ 3-5 คน โดยมักจะแบ่งได้ 2 ประเภท ประกอบด้วย 1. ชุดปฏิบัติการขั้นพื้นฐาน ทำหน้าที่ออกปฏิบัติการกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีความรุนแรงถึงขั้นเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต โดยจะมีเจ้าหน้าที่ คือ หัวหน้าทีมที่เป็นเจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ หรืออาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ 

2. ชุดปฏิบัติการขั้นสูง สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีความรุนแรงที่คุกคามต่อชีวิต ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ ได้แก่ หัวหน้าทีมที่เป็นแพทย์ หรือพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน หรือเป็นนักฉุกเฉินการแพทย์ ที่เหลือก็จะเป็นสมาชิกในทีม ซึ่งจำนวนจะแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล 

ส่วนวิธีการปฏิบัติงานจะมีหลักการส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลคือ หลังจากที่ได้มีการแจ้งเหตุไปที่เบอร์ 1669 ก็จะมีการรับแจ้งเหตุ และมีการส่งทีมปฏิบัติการที่เหมาะสมออกไปดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล ซึ่งอาจจะเป็นทีมขั้นพื้นฐานหรือทีมขั้นสูงก็ได้ โดยทีมปฏิบัติงานจะต้องไปถึงผู้ประสบเหตุ หรือผู้ประสบภาวะวิกฤตให้เร็วที่สุดโดยใช้เวลาไม่เกิน 8-10 นาที

หลังจากนั้นจะมีการดูแลผู้ป่วยที่จุดเกิดเหตุทำการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ทำการกู้ชีพเบื้องต้น และนำส่งกลับไปโรงพยาบาลที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่ 

หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน บอกต่อไปว่า หากเป็นเคสที่มีความเร่งด่วนหรือมีภาวะ
ที่คุกคามต่อชีวิตจะต้องมีการส่งโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือที่พร้อม เหมาะสม และใกล้ที่สุดเป็นอันดับแรก และถ้าหากเป็นกลุ่มที่มีความจำเพาะ เช่น ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องตรวจเส้นเลือดหัวใจ หรือจำเป็นต้องตรวจเส้นเลือดสมองจะต้องรีบส่งโรงพยาบาลเฉพาะทางที่สามารถดูแลภาวะเหล่านั้นได้

2

ช้า 1 นาที = 1 ชีวิตที่ต้องเสียไป

รศ.ดร.นพ.ไชยพร ชี้ให้เห็นความสำคัญของเวลาในการส่งตัวผู้ป่วยว่า ระยะเวลาเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยชีวิตคนๆ หนึ่งได้ ยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นวิกฤต หากล่าช้าไปเพียง 1 นาที นั่นอาจจะหมายถึง 1 ชีวิตที่ต้องเสียไป

ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่มีภาวะวิกฤตต้องมีการปั๊มหัวใจและทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ใช้ฟื้นคืนชีพให้ผู้ที่หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น ให้กลับมามีชีพจร หรือลมหายใจได้ปกติ (CPR) เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้หากมีความจำเป็นอาจต้องมีการเปิดหน้าอกและช็อตไฟฟ้าหัวใจให้เร็วที่สุด ซึ่งการช่วยชีวิตโดยวิธีเหล่านี้ หากสามารถทำได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดี

ดังนั้น ในกรณีผู้ป่วยวิกฤต นับตั้งแต่ล้อหมุนออกไปถึงที่เกิดเหตุไม่ควรเกิน 10 นาที และเมื่อนำผู้ป่วยขึ้นรถแล้วระยะเวลาเดินทางกลับมาส่งที่โรงพยาบาลก็ไม่ควรเกิน 10 นาที ส่วนถ้ารวมจนเสร็จสิ้นการดำเนินการโดยยึดตามเกณฑ์รถพยาบาลฉุกเฉินในโรงพยาบาล คือ ไม่ควรเกิน 30 - 40 นาที 

“ผู้ป่วยบางกลุ่มที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาที่จำเพาะเจาะจง เช่น การที่ต้องได้รับการผ่าตัดและทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีว่า อาการหนักแค่ไหน” รศ.ดร.นพ.ไชยพร อธิบายเสริม

ถ้ารถฉุกเฉินขยับ เสี่ยงดับชีวิตผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะแข่งขันกับเวลาเพียงใด แต่ความเร็วที่ใช้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่บนรถและสภาพแวดล้อมรอบข้างที่มีผู้คนใช้รถใช้ถนนร่วมด้วย 

รศ.ดร.นพ.ไชยพร ยืนยันว่า การขับรถพยาบาลต้องมีการคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังทำการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยที่โดยสารอยู่ในรถ 

“รถพยาบาลฉุกเฉินจึงมีความจำเป็นที่จะต้องวิ่งเป็น เส้นตรงและไม่ควรมีการเคลื่อนไหวมากนักบนรถ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย” รศ.ดร.นพ.ไชยพร กล่าว