ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในอดีต การศัลยกรรมเสริมความงามเป็นสิ่งที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในกลุ่มของผู้ที่มีกำลังทรัพย์ แต่ปัจจุบัน ศัลกรรมเสริมความงามกลายเป็นเรื่องที่ ‘เข้าถึงง่ายขึ้น’ และรายล้อมอยู่ในชีวิตประจำวัน

ศัลกรรมเสริมความงามนำมาซึ่งรายได้ของหน่วยบริการ โดยเฉพาะจุดขายเรื่อง ‘มาตรฐานความปลอดภัย’ ซึ่งที่จริงแล้วคือค่าน้ำหนักความสำคัญที่ควรจะมีค่าสูงที่สุด

ทว่า ข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งกลับพบว่า ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่พิจารณาจาก ราคา-โปรโมชั่นเป็นที่ตั้ง

ราคาถูก มองหาความปลอดภัยไม่เจอ

นพ.สุรสิทธิ์ อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า ประธานและกรรมการบริหาร รพ.บางมด สมาชิกสมาคมศัลยกรรมตกแต่ง – เสริมสวย แห่งอเมริกา ญี่ปุ่น และนานาชาติ เล่าว่า ปัจจุบันด้วยแนวโน้มทิศทางของอุตสาหกรรมสูงขึ้น เราจะเห็นการเกิดขึ้นของคลินิกเสริมความงามมากมาย จุดขายของเขาไม่ใช่ผลลัพธ์หรือความปลอดภัย แต่เขาจะทำโปรโมชั่นล่อใจให้คนเข้าไปทำศัลยกรรม

ดังนั้นให้มองภาพว่า ถ้าเขาขายศัลยกรรมเราในราคาที่ถูกขนาดนั้น แสดงว่าต้นทุนของเขาต้องลดลงไปด้วย เราแทบจะมองหาความปลอดภัยไม่เจอเลย

หลายคนเสริมหน้าอกจากคลินิกแล้วบอกว่าถูกมากเลย ไม่เห็นต้องพักฟื้น ผ่าเสร็จกลับบ้านเลย แต่เขาไม่บอกคุณหรอกว่านั่นถือเป็นความเสี่ยง เพราะความเป็นจริงแล้วหลังการผ่าตัดเสริมหน้าอก ควรนอนดูอาการพักฟื้นที่โรงพยาบาลจะดีที่สุด หรือการผ่าตัดใหญ่ก็ควรมีแพทย์วิสัญญีที่คอยประกบคนไข้ระหว่างผ่าตัด” 

หากยกตัวอย่าง ‘ความปลอดภัย’ ของ รพ.บางมด จะพบว่ามีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับคลินิกเสริมความงาม เพราะที่ รพ.จะดูแลคนไข้แทบในทุกขั้นตอน มีขั้นตอนการดูแลและศัลยกรรมที่ชัดเจน ที่สำคัญคือต้องตรวจวิเคราะห์โครงสร้างอย่างละเอียด เพราะโครงสร้างของแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

อย่างเคสเสริมหน้าอกจะชัดมากหลายคนต้องการเสริมไซส์ใหญ่ เราต้องแจ้งคนไข้เลยว่า เราสามารถเสริมให้ได้ แต่สุดท้ายคุณก็ต้องกลับมาแก้ไขอยู่ดี

ธุรกิจเสริมความงามสุดบูมในไทย

หากมองมาที่เทรนด์ธุรกิจเสริมความงามและการศัลยกรรมจะพบว่ามีความเฟื่องฟูอย่างถึงที่สุด โรงพยาบาลจำนวนมากควักเงินลงทุนในด้านนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ตัวอย่างเช่นที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ มาจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER โรงพยาบาลด้านศัลยกรรมเสริมความงามภายใต้ชื่อ "โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช : Masterpiece Hospital" เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติในหลักการให้ MASTER เข้าลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (Term Sheet) เพื่อเข้าลงทุนในกิจการคลินิกเสริมความงาม ภายใต้ชื่อ "Rattinan Medical Center" หรือ Rattinan ภายใต้เงินลงทุนประมาณ 70 ล้านบาท

สอดคล้องกับที่ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ธุรกิจด้านการแพทย์และความงาม ถือเป็นธุรกิจที่มาแรงติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศไทย ด้วยพฤติกรรมของประชาชนที่เริ่มหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น และกระแสสังคมปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อรูปลักษณ์ และความงาม ทำให้มีผู้รับบริการชาวไทยและชาวต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามารับบริการทางการแพทย์ด้านการเสริมความงามกับสถานพยาบาลไทยอย่างต่อเนื่อง 

จ่อออก กรมธรรม์ ประกันความงาม

ด้วยความนิยมอย่างขีดสุดในประเทศไทย สบส. จึงได้ดำเนิน ‘โครงการพัฒนาเชิงวิชาการให้แก่สถานพยาบาล’ โดยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์และบริการสุขภาพ ด้วยการพัฒนา ‘ระบบประกันภัยเสริมความงาม’ ของประเทศไทย โดยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พัฒนากรมธรรม์ประกันภัยจากการเสริมความงาม 

กรมธรรม์ที่กำลังจะออกใหม่นั้น จะมีด้วยกัน 3+1 ประเภท ครอบคลุมทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ ไทย-ต่างชาติ

ได้แก่ 1. กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการทำศัลยกรรมเสริมความงามและอุบัติเหตุ ให้การคุ้มครองภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการทำศัลยกรรมเสริมความงาม โดยมีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามจริงทั้งในกรณีเป็นผู้ป่วยใน หรือผู้ป่วยนอกที่เป็นการรักษาต่อเนื่องจากผู้ป่วยใน ตามจำนวนเงินที่ระบุในกรมธรรม์ 

2. กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายผู้ประกอบการวิชาชีพแพทย์ สำหรับแพทย์ผู้ทำการรักษา ให้ความคุ้มครองในกรณีที่แพทย์เกิดความผิดพลาดจากการให้บริการ จนก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจ หรือเกิดการเสียชีวิตของผู้รับบริการ ซึ่งจะมีการจ่ายค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี และชดใช้ค่าเสียหายแทน หากแพทย์มีความรับผิดตามกฎหมาย ไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุในกรมธรรม์ 

3. กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดจากวิชาชีพ สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านความงาม ซึ่งจะคุ้มครองกรณีเกิดความรับผิดตามกฎหมายจากการบริการทางวิชาชีพ โดยจ่ายชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับบริการ หากผู้เอาประกันภัยต้องมีความรับผิดตามกฎหมาย

ทั้งนี้ คปภ.จะหารือร่วมกับ ‘สมาคมประกันภัยภาคเอกชน’ เพื่อออกแบบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่อไป

นอกจากผลิตภัณฑ์ 3 ประเภทข้างต้นแล้ว สบส. ยังได้สนับสนุนเนื้อหาวิชาการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ คปภ. สภาองค์กรของผู้บริโภค และสมาคมประกันภัยภาคเอกชน ในการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัย ประเภทที่ 4 

นั่นคือ กรมธรรม์ประกันภัยผลกระทบจากการเสริมความงาม (Aesthetic Liability Insurance) ในการคุ้มครองผู้รับบริการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยอาจจะมีมาตรการให้ชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมความงาม ซื้อกรมธรรม์ประเภทดังกล่าว เพื่อสร้างความสะดวกและความมั่นใจในการรับบริการทางการแพทย์หรือบริการเสริมความงามจากสถานพยาบาลไทย และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Aesthetic Medical Hub