ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘เธอ’ และ ‘เขา’ ขอให้ใช้ชื่อที่สมมติขึ้น หรือหาวิธีอื่นๆ เพื่อปกปิดตัวตน เพราะอาชีพที่ทั้งสองคนทำคือการ “ขายบริการทางเพศ” หรือที่มีชื่อโก้ๆ ในปัจจุบันว่า Sex worker ซึ่งมีคนจำนวนมากยังไม่ยอมรับ และพร้อมเบียดขับออกจากสังคมด้วยนามของศีลธรรม

‘เธอ’ เท้าความตั้งแต่แรกเริ่มว่าเข้ามาสู่วงการนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ด้วยความจำใจยอมทำอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเชื่อว่าอาชีพนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการเงินฝืดเคืองที่กำลังประสบอยู่ขณะนั้น ด้วยภาระค่าเล่าเรียน ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องแบกไว้ได้ โดยเธอจะรับงานวันละ 2-3 คน

แตกต่างกับ ‘เขา’ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำเพราะมีแรงขับทางเพศที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่เลือกหน้า ฉะนั้นค่าตอบแทนจึงถือเป็นผลพลอยได้ เขาเลยไม่ลังเลใจที่จะทำอาชีพนี้ แต่ก็ใช่ว่าวันๆ หนึ่งจะรับงานโดยเอาปริมาณเข้าว่า แต่กำหนดกฎเกณฑ์การทำงานของตนเองว่าจะรับลูกค้าเฉพาะสาวใหญ่ 1 คนต่อวันเท่านั้น  

อย่างไรก็ดีในแต่ละวันที่ทั้งสองคนต้องเจอคือเส้นทางที่ไม่ต่างกันนัก เนื่องจากทั้งต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากโรค และไหนจะต้องมาเจอกับลูกค้าที่มีนิสัยใจคอ ความต้องการทางเพศ และพฤติกรรมที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป เช่น บีบบังคับให้ใช้เซ็กส์ทอย ขอให้บีบคอ หรือเป็นผู้โดนใช้ความรุนแรงต่างระหว่างมีเพศสัมพันธ์ 

เวลาทำงานจะต้องมีการสัมผัสร่างกาย รวมไปถึงสารคัดหลั่งของลูกค้าอยู่เสมอ จึงทำให้ติดทั้งโควิดและโรคผิวหนังพวกเกลื้อน เคยเจอลูกค้าที่อ้างว่าแพ้ถุงยางอนามัยเพื่อมีอะไรแบบไม่ป้องกัน หรือลูกค้าบางคนมีรสนิยมทางเพศแบบรุนแรง (Sadism) เช่น บีบแขน บีบคอ และกระชากผมเราจนหลุดออกมาเป็นกระจุก” เธอ บอกกับ “The Coverage” 

นอกจากบาดแผลทางกายที่เกิดจากหน้างานแล้ว ด้วยธรรมชาติของกาลเวลาที่เดินหน้าอย่างไม่ใยดี ยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานทางร่างกายของคนเราลดลงด้วย หรือที่เรียกว่า ‘ความเสื่อมตามวัย’ และสิ่งที่เพิ่มมาเป็นเงาตามตัวก็คือ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและความเจ็บป่วย

ทำให้นับตั้งแต่ก้าวเข้ามาเป็น Sex worker ‘เธอ’ มีอาการป่วยบ่อยขึ้น ไปพบแพทย์ถี่ขึ้น และต้องทานยาเยอะขึ้น แต่ก็อาจไม่ใช่ทุกคนในวงการนี้ที่จะเกิดลักษณะเดียวกันนี้ เพราะ ‘เขา’ บอกว่าไม่ได้ป่วยง่ายขนาดนั้น แต่ก็บ่อยมากกว่าเมื่อก่อน

ขณะที่ทั้งสองคนมีความเสี่ยงต่อความป่วยไข้กว่าคนทั่วไปที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แต่การเข้าถึงการดูแลรักษากลับแตกต่างกันค่อนข้างมาก ด้วยบริการบางรายการยังไม่ครอบคลุม และข้อจำกัดของบริการ เช่น การแจกถุงยางอนามัยให้ฟรี แต่ครั้งละไม่เกิน 10 ชิ้น/สัปดาห์  การตรวจเอชไอวี (HIV) ฟรีปีละ 2 ครั้ง

“เจ็บป่วยแบบทั่วๆ ไป เราจะไปคลินิกเอกชนทั่วไป แต่ถ้าหนักหรืออุบัติเหตุอื่น เช่น อุบัติเหตุจากการร่วมเพศรุนแรง จะเลือกไปรักษาโดยการใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งจริงอยู่ที่ว่าการใช้สิทธิบัตรทองนั้นจ่ายแค่ 30 บาท แต่บางโรคที่งบัตรทองครอบคลุมถึงก็ยังต้องจ่ายค่ายาที่แพงอยู่ดี เพราะเป็นยานอกบัญชียาหลัก เช่น โรคหูดหงอนไก่

 “ยังมีการรักษาบางอย่างที่ยังไม่ครอบคลุมพอ นั่นคือ สิทธิการรักษาที่ไม่ได้รองรับการรักษาโดยการทำหัตถการจากอุบัติหลังจากการร่วมเพศ เช่น อวัยวะเพศฉีกขาด หรือเป็นแผลที่อวัยวะเพศ” เธอ อธิบาย

2

นอกจากนี้ยังมีเหล่าคนทำงานขายบริการจำนวนไม่น้อยที่เวลามีอาการเจ็บป่วยจากการทำงาน แต่ไม่กล้าที่จะไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา เพราะนอกเหนือจากความยุ่งยากในการใช้สิทธิรักษา และการรอคิวที่กินระยะเวลานานแล้วนั้น ยังต้องเจอประสบการณ์เลวร้ายที่เกิดจากบุคลากรทางการแพทย์ และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเข้ารับการรักษาอีกด้วย

การตั้งคำถามจากบุคลากรทางแพทย์ในตอนที่ไปตรวจ ซึ่งตอนนั้นมีผู้ป่วยเยอะมาก และพยาบาลหรือผู้ช่วยก็ถามคำถามแบบเจาะจงต่อหน้าคนอื่นอย่างเสียงดังฟังชัดว่า คุณทำงานด้านไหนถึงอยากตรวจภายในและทำงานเกี่ยวกับการชายบริการใช่ไหม ซึ่งคำถามเหล่านี้พบบ่อยจนไม่อยากไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอีกเลย” เธอ กล่าว

ทั้ง ‘เธอ’ และ ‘เขา’ ยังสะท้อนอีกด้วยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการไปใช้สิทธิบัตรทองยังเป็นแบบเดิมอยู่แทบไม่เปลี่ยนแปลงอะไรใดๆ ทั้งในแง่ของการให้บริการ และในแง่ของบริการสาธารณสุข จึงอยากส่งสารไปให้ถึงหน่วยงาน รัฐบาล หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้กลุ่มคนทำงาน Sex worker เข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม และสอดคล้องกับการทำงาน รวมถึงโรคที่อาจเกิดให้เท่าเทียมเหมือนคนกว่า 48 ล้านคน

“ยังมีความหวังเล็กๆ ว่า อยากจะให้อาชีพ Sex worker ถูกกฎหมาย เพราะถ้าอาชีพนี้ถูกกฎหมายเมื่อไหร่ ระบบสาธารณสุข รวมไปถึงสิทธิการรักษา และสวัสดิการอื่นๆ ก็อาจจะดีขึ้นตามมาด้วย” เขา เผยกับ “The Coverage”

จากมุมมองของทั้งสองคนเป็นไปในทิศทางเดียวกับ มีนา และ แตงกวา สมาชิกมูลนิธิเอ็มพลัส (M Plus Foundation) องค์กรภาคประชาสังคมที่คลุกคลีใกล้ชิดและต่อสู้ร่วมกับ Sex worker ผ่านการให้คำปรึกษาและบริการมากว่า 36 ปี 

ที่ให้ความเห็นกับ “The Coverage” ว่าแม้ใน ‘ภาพรวม’ ปัจจุบันนี้สิทธิบัตรทองจะครอบคลุมการให้บริการที่เท่าเทียมแก่คนทุกกลุ่มมากขึ้น ทว่า ก็ต้องยอมรับด้วยว่าบางบริการในสิทธิบัตรทองนั้นยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งกลายเป็นภาระค่ารักษาแก่ผู้รับบริการ ที่ไม่เพียงแต่คนทำงาน Sex worker เท่านั้น ยังหมายรวมไปถึงคนทั่วไปเองก็ด้วย ซึ่งก็ต้องจ่ายเพิ่มเหมือนกันหมดทุกคนทุกอาชีพ

“จากการคร่ำหวอดในวงการทำงานมูลนิธินี้มานาน สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ พัฒนาการที่คงที่ของระบบสิทธิบัตรทอง ที่เมื่อก่อนเป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่” มีนา ฉายภาพประสบการณ์ พร้อมเสริมต่อว่า “พูดตรงๆ ก็คือไม่มีการพัฒนาหรือก้าวกระโดดใดๆ กว่าเมื่อก่อนเลย แต่ถึงยังไงการให้บริการบัตรทองก็ยังคงคอนเซปที่เข้าถึงได้ทุกกลุ่มคนอย่างเท่าเทียมเหมือนกันหมด”

มีนา และ แตงกวา เผยอย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งที่อยากเห็นจากภาครัฐมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการที่ Sex worker จะได้รับการสนับสนุนการเข้าถึงบริการในแง่อุปกรณ์การป้องกันจากการมีเพศสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับการทำงานมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ผ้าอนามัย’ อันเป็นสิ่งจำเป็นที่เลือกไม่เป็นไม่ได้สำหรับผู้หญิง

เหล่านี้คือกระแสเสียงที่มาจากซอกหลืบของสังคม ซึ่งต้องการให้ระบบสุขภาพของไทยเราโอบรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 

แน่นอนว่าหลายประเด็นยังคงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยชุดข้อมูล และแลกเปลี่ยนกันอย่างรอบด้านในรายละเอียด แต่สิ่งสำคัญตั้งต้นคือต้องเปิดใจรับฟัง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบ ไม่ใช่ปล่อยผ่านเลยไปโดยไม่มีใครจดจำ