ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เลขาธิการ สปสช.” ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ห่วงสถานการณ์ฝุ่นควันวิกฤต แนะ อบต. เทศบาล ดึงประชาชนร่วมแก้ปัญหา ผ่านกลไก “กองทุนสุขภาพตำบล” มุ่งป้องกันภาวะเจ็บป่วยสารพัด อันตรายจากมลพิษฝุ่นควัน

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นควันที่จังหวัดเชียงใหม่ จากข้อมูลเว็บไซต์ www.airvisual.com ที่วัดคุณภาพอากาศหรือค่า US AQI จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่าค่ามลพิษในอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ วิกฤติหนักที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยฝุ่นควันดังกล่าวมีฝุ่นละอองขนาดเล็กมากที่สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านระบบทางเดินหายใจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ทั้งกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ เป็นต้น โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง อาทิ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด และโรคภูมิแพ้ รวมถึงผู้ต้องทำงานกลางแจ้ง

จากการติดตามสถานการณ์ขณะนี้ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต่างร่วมเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อลดฝุ่นควันที่เป็นมลพิษนี้ โดย “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีกลไกสำคัญเพื่อร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นควันนี้ได้ คือ “กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือที่เรียกว่า “กองทุนสุขภาพตำบล” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในด้านสุขภาพให้กับประชาชน นอกจากการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานอื่น องค์กรหรือกลุ่มประชาชน เพื่อดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังสนับสนุนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคขององค์กร กลุ่มประชาชน หน่วยงานอื่น รวมถึงเปิดให้สามารถดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อร่วมแก้ไขกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ ตลอดจนปัญหาสาธารณสุขตามความเป็นที่เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ได้ อย่างในกรณีวิกฤตฝุ่นควันที่กำลังเกิดขึ้นนี้ที่มีผลต่อสุขภาพประชาชนโดยตรงที่สูดดมอากาศที่มีฝุ่นควัน

“มลภาวะอากาศที่มีฝุ่นควันย่อมส่งผลต่อสุขภาพแน่นอน โดยประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะเจ็บป่วยโดยผลันและต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่ประชาชนโดยทั่วไปแม้ว่าจะมีสุขภาพแข็งแรง แต่หากต้องหายใจอากาศที่มีฝุ่นควันต่อเนื่องเป็นเวลานานย่อมต้องส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายได้เช่นกัน และก่อให้เกิดโรคร้ายแรง อย่างโรคมะเร็งปอด โรคปอดเรื้อรัง โรคเรื้อรังอื่นๆ และอุบัติการณ์คลอดทารกพิการที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ดังนั้นการป้องกันภาวะเจ็บป่วยจึงต้องร่วมกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่มีปัญหาฝุ่นควันสามารถจัดทำโครงการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นเพื่อช่วยป้องกันภาวะเจ็บป่วยและโรคที่เกิดจากฝุ่นควันได้ อย่างการให้ความรู้ประชาชนเพื่อลดฝุ่นควันในอากาศ เช่น ลดการเผาหญ้า ลดการเผาขยะ เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว  

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในการดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบล ปัจจุบันมี อปท.จำนวน 7,738 แห่งจากทั่วประเทศเข้าร่วม ซึ่งแต่ละปีมีการกระจายงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและท้องถิ่นร่วมสมทบ

ด้าน นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้น นอกจากพื้นที่จังหวัดเขียงใหม่แล้ว ใน 8 จังหวัดพื้นที่ภาคเหนือก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตฝุ่นควันเช่นกัน เพื่อแก้ไขปัญหาทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกัน ซึ่งหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานและองค์กรอื่น รวมถึงกลุ่มประชาชน สามารถจัดทำโครงการร่วมแก้ปัญหาฝุ่นควันเพื่อลดภาวะเจ็บป่วยมายังคณะกรรมการบริหารกองทุนที่มีนายกองค์การบริการส่วนตำบลหรือนายกเทศมนตรีเป็นประธานเพื่อพิจารณาได้ หากสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพตำบลก็สามารถเดินหน้าโครงการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา

“กองทุนสุขภาพตำบลเป็นกองทุนที่ สปสช.ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกองทุนของประชาชน เนื่องจากเปิดให้ประชาชนร่วมนำเสนอโครงการได้ ไม่แต่เฉพาะหน่วยบริการเท่านั้น ซึ่งมลภาวะฝุ่นควันเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบสุขภาพกับทุกคน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหา” ผอ.สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ กล่าว