ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแก่ 3 กองทุนสุขภาพ


สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย จัดเวทีเชื่อมร้อยสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อนโรคไตทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2566 โดยในงานนี้ได้มีการระดมความคิดเห็นจากสมาชิกเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาบริการเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคไต พร้อมทั้งมอบข้อเสนอดังกล่าวแก่ตัวแทนกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุน อันประกอบด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) น.ส.ปาริฉัตร จันทร์อำไพ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ นายรัชตะ อุ่นสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง เป็นตัวแทนของแต่ละกองทุนในการรับข้อเสนอ 

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในส่วนของข้อเสนอต่อ สปสช. นั้น แบ่งเป็นระดับพื้นที่และระดับประเทศ ในส่วนของระดับพื้นที่มี 6 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้กองทุนสุขภาพท้องถิ่นกำหนดเป้าหมายลดโรค NCDs โดยบรรจุโครงการ NCDs ในแผนของกองทุนทุกปี 2. ให้มีแพทย์ประจำทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สัปดาห์ละ 1 ครั้ง  3. เพิ่มสิทธิประโยชน์การคัดกรองไตในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปในระดับพื้นที่  4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำหนดแผนพัฒนาศักยภาพแกนนำในพื้นที่ด้านการให้ความรู้แบบองค์รวม 5. เพิ่มหน่วยบริการที่สามารถจัดบริการทำเส้นเพื่อฟอกไตเพิ่มขึ้น และ 6. ให้ สปสช. ลงพื้นที่ตรวจสอบหน่วยบริการ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า

2

ข้อเสนอระดับประเทศ

ในส่วนของข้อเสนอระดับประเทศ มีทั้งหมด 13 ข้อ ประกอบด้วย 1. รวม 3 กองทุนสุขภาพเป็นกองทุนเดียว ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม  2. เสนอกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้มีแพทย์ประจำทุก รพ.สต. สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครอบคลุมทุกพื้นที่ 3. ให้กองทุนสุขภาพท้องถิ่นกำหนดเป้าหมายลดโรค NCDs โดยบรรจุโครงการ NCDs ในแผนของกองทุนทุกปี 4. ให้ สธ. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยสนับสนุนเครื่องวัดความเค็ม (Salt meter)  ให้ทุกหมู่บ้าน อย่างน้อยหมู่บ้านละ 2 เครื่อง โดยมี รพ.สต.เป็นผู้กำกับดูแล 5. เพิ่มสิทธิประโยชน์การคัดกรองไตในกลุ่ม อายุ 15 ปีขึ้นไปในระดับประเทศ 6. ให้ สธ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูงและกำหนดฉลากที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค 

7. ให้มีการกำกับดูแลคุณภาพบริการหน่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) โดยหน่วยบริการทุกแห่งที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ สธ. กำหนด ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน  มีการกำกับหน่วยบริการให้ฟอกไตต้องครบ 4 ชม./ครั้ง และกำกับดูแลระบบน้ำบริสุทธิต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด 8. สนับสนุนงบประมาณในการสร้างแกนนำด้านส่งเสริมสุขภาพ และขยายเครือข่ายด้านส่งเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 9. จัดให้มีชุดตรวจคัดกรองโรคไตเบื้องต้นทุก รพ.สต. 10. สนับสนุน สร้างความรู้ และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนบริจาคอวัยวะ 

11. จัดให้มีศูนย์ Contact Center ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน 12. ให้ออกแบบโปรแกรมเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติการไม่เป็นภาระงานของบุคคลากรทางการแพทย์ เช่น ทำเส้น DNISS กับ TRT ไม่ให้ซ้ำซ้อน และ 13. บูรณาการด้านการทำเส้นใน 3 กองทุนให้มีสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน

ข้อเสนอต่อสำนักงานประกันสังคม

นายธนพลธ์ กล่าวว่า ในส่วนของข้อเสนอต่อ สปส. นั้น มีทั้งหมด 13 ข้อ ประกอบด้วย 1. รวม 3 กองทุนสุขภาพเป็นกองทุนเดียว ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม 2. เพิ่มสิทธิประโยชน์การคัดกรองไตในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปในระดับประเทศ 3. ให้มีการกำกับดูแลคุณภาพบริการหน่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) โดยหน่วยบริการทุกแห่งที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส. ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ สธ. กำหนด ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน  มีการกำกับหน่วยบริการให้ฟอกไตต้องครบ 4 ชม./ครั้ง และกำกับดูแลระบบน้ำบริสุทธิต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด 4. ขอให้ยกเลิกสำรองเงินจ่ายค่าบริการล่วงหน้า เช่น ค่าทำเส้นเลือด/ซ่อมเส้นเลือด/อื่นๆ 5. ขอให้ควบคุมหน่วยบริการที่เก็บเงินค่าบริการบำบัดทดแทนไตเกินอัตราที่กำหนด 6. ขอให้มีหน่วยบริการล้างไตทางช่องท้องไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และขอให้ทาง สปส. จัดบริการส่งน้ำยาล้างไตทางช่องท้องให้ถึงบ้านผู้ป่วยเหมือนกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

7. ขอให้แก้ไขเรื่องการพิจารณาสิทธิภายใน 7 วัน เพื่อไม่เกิดปัญหาล่าช้าทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบกับการเข้าถึงบริการ 8. ให้พิจารณาการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ APD แบบเร่งด่วน 9. ควรเพิ่มวงเงินในการทำเส้นฟอกเลือดของผู้ป่วยโรคไต และในกรณีฟอกฉุกเฉินที่เกิน 4,500 บาท/สัปดาห์ควรเบิกจ่ายได้เพิ่ม 10. เพิ่มวงเงินในการทำฟันของผู้ป่วยโรคไตจาก 900 บาท ให้มากขึ้นและเหมาะสม 11. เพิ่มสิทธิการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ฟรีโดยไม่ใค่าใช้จ่าย 12. บูรณาการด้านการทำเส้นใน 3 กองทุนให้มีสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน และ 13. สนับสนุน สร้างความรู้ และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนบริจาคอวัยวะ

2

ข้อเสนอต่อกรมบัญชีกลาง

ขณะที่ในส่วนของข้อเสนอต่อกรมบัญชีกลาง มีทั้งหมด 11 ข้อ ประกอบด้วย 1. รวม 3 กองทุนสุขภาพเป็นกองทุนเดียว ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม 2. ให้มีการกำกับดูแลคุณภาพบริการหน่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) โดยหน่วยบริการทุกแห่งที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส. ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ สธ. กำหนด ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน  มีการกำกับหน่วยบริการให้ฟอกไตต้องครบ 4 ชม./ครั้ง และกำกับดูแลระบบน้ำบริสุทธิต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด 3. ให้ผู้ป่วยโรคไตที่ฟอกเลือดสามารถเข้ารับบริการบำบัดทดแทนไตได้ทุกหน่วยบริการ ไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนของเวชภัณฑ์ 4. ให้มีหน่วยฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคร่วม HIV ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 1 หน่วยต่อจังหวัด 5. ให้เพิ่มสิทธิของผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE อยู่ในกลุ่มโรคเรื้อรัง 608

6. บรรจุเวชสำอางที่ใช้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE ให้บรรจุอยู่ในบัญชียาที่มีความจำเป็นต่อโรค 7. ไม่คิดค่าใช้จ่ายกรณีซ่อมเส้น 8. บูรณาการด้านการทำเส้นใน 3 กองทุนให้มีสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน 9. เพิ่มสิทธิการฟอกไตให้สามารถฟอกได้ทุกหน่วยบริการ 10. สนับสนุน สร้างความรู้ และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนบริจาคอวัยวะ และ 11. ให้มีแพทย์ลงพื้นที่ติดตามอาการผู้ป่วยโรคไต สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

2

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ข้อเสนอต่อ สปสช. เหล่านี้ 70% อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ แต่ขอเพิ่มเติมข้อเสนอให้อีกข้อคือ ปัจจุบันมีเครือข่ายร้อยกว่าเครือข่ายทั่วประเทศ ทำอย่างไรจะช่วยกันทำให้มีผู้ป่วยรายใหม่น้อยลง และเมื่อมีผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาแล้วต้องเลือกระหว่างการฟอกเลือดกับล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งสมาชิกในเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้ได้ โดย สปสช. ยินดีกำหนดหมายเลขพิเศษของสายด่วน 1330 เพื่อให้ผู้ป่วยรายใหม่ต่อสายถึงพี่เลี้ยงเพื่อรับคำปรึกษาได้โดยตรง และเชื่อว่าเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตจะให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องอย่างเป็นกลาง เพื่อให้ผู้ป่วยรายใหม่ได้ตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด

ขณะที่ น.ส.ปาริฉัตร กล่าวว่า ข้อเสนอสำหรับ สปส. มีหลายเรื่องที่อยู่ในกระบวนการทำงาน ส่วนเรื่องการนำเครื่อง APD มาใช้นั้น ขณะนี้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการโรคไตแล้ว แต่ยังมีขั้นตอนต้องให้คณะกรรมการการแพทย์และคณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาอีกครั้ง ส่วนเรื่องการขอให้ยกเลิกสำรองเงินจ่ายค่าบริการล่วงหน้า เช่น ค่าทำเส้นเลือด ขณะนี้ก็อยู่ในกระบวนการโดยประสานว่าจะให้โรงพยาบาลเบิกตรงกับ สปส. 

นายรัชตะ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอให้ขยายหน่วยบริการสำหรับผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ เพราะที่ผ่านมามีข้อกำหนดว่าหน่วยบริการฟอกเลือดต้องตั้งอยู่ในโรงพยาบาล ก้าวต่อไปที่กรมบัญชีกลางมีแผนจะทำคือทำให้หน่วยบริการฟอกเลือดไม่ต้องตั้งอยู่ในโรงพยาบาลก็ได้ เช่น คลินิกหรือศูนย์ไตเทียมที่ตั้งอยู่นอกโรงพยาบาล เป็นต้น และอีกประเด็นที่กรมบัญชีกลางอยากทำคือการนำ APD มาใช้ เนื่องจากปัจจุบันกรมบัญชีกลางมีค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดประมาณ 5,800 ล้านบาท/ปี สำหรับผู้ป่วย 2.8 หมื่นคน หากสามารถทำให้เปลี่ยนมาใช้เครื่อง APD ได้สัก 10% เชื่อว่าคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจะดีขึ้น