ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอธีระ’ ชี้ สธ. ‘ตีโจทย์ไม่แตก’ ผลิตแพทย์เพิ่มเท่าไหร่ก็ ‘ไม่พอ’ ถ้าไม่ ‘รักษาบุคลากรเดิมไว้’ แนะ พัฒนาปรับเปลี่ยน ‘สภาพแวดล้อม-สวัสดิการ-การทำงาน’ คือทางออก


รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาแพทย์ลาออกจนขาดแคลนแพทย์ในระบบบริการสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ด้วยการเร่งผลิตเพิ่มนั้น จะยิ่งทำให้ระบบเกิดความยุ่งยากขึ้น โดยสิ่งที่ควรเร่งทำ คือ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานและใช้ชีวิต ที่พัก เครื่องมือเทคโนโลยี สวัสดิการ เพิ่มช่องทางการศึกษาต่อยอดความรู้ทักษะ ฯลฯ ทั้งภาครัฐ เอกชน และต่างประเทศที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ปรับระบบการทำงาน

อีกทั้งแนวคิดที่น่าจะผิดทางมาตลอดหลายสิบปีก็คือ การตั้งเป้าบังคับที่จะกระจายให้บุคลากรทางการแพทย์ไปทั่วทุกพื้นที่ โดยกำหนดโควตา การจัดสรรทุน การใช้ทุน และกฎระเบียบอื่นๆ ที่ผูกคอ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจำกัดตำแหน่งบรรจุงานของรัฐโดยหน่วยงานควบคุมอัตรากำลังของประเทศ

ทั้งนี้ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้คนกว่า 48 ล้านคนในประเทศไทยที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพเข้าถึงบริการสุขภาพได้ยามที่เขาเจ็บป่วย ซึ่งนี่เป็นคุณประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทว่า ผลกระทบที่หลายฝ่ายชี้ให้เห็นก็คือ ภาระงานของแพทย์ที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว 

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่แรกตอนช่วงที่มีการผลักดันให้ระบบบัตรทองเกิดขึ้น นอกเหนือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เป็นกลไกทางการเงินแล้ว ทาง สธ. เองก็ควรดูเรื่องของอัตรากำลังคนมาตั้งแต่ต้น รวมถึงการคาดการณ์ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น การจัดการเรื่องคนและงบประมาณ รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ 

รศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อไปว่า แต่สำหรับปัจจุบันซึ่งเลยจุดที่สามารถทำแบบนั้นมากว่า 10 ปีแล้ว ภาระงานที่เกิดขึ้นเยอะในช่วงที่ผ่านมาที่หนักจนทำให้บุคลากรทางการแพทย์อยู่ในระบบไม่ได้ เพราะคนไม่พอ รวมถึงสวัสดิการ ที่พักอาศัย การกินการอยู่ก็ลำบาก ฯลฯ เหล่านี้ทำให้การเร่งผลิตแพทย์ออกมามากเท่าไหร่ก็ไม่พอ ต่อให้มีใจเป็นต้นทุนมากเพียงใด แต่สิ่งที่จะมีอิทธิพลอย่างมากคือ ปัจจัยแวดล้อมทางสังคมต่างๆ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการพัฒนาก็ถือเป็นการแก้ที่ไม่ตรงโจทย์

“จริงๆ ที่เมื่อวาน สธ. แถลงตัวผมเองคิดว่ายังตีโจทย์ไม่แตก เพราะว่าการที่เขานำเสนอภาพว่าจำนวนคนยังไม่พอต้องผลิตเพิ่ม แต่ถ้าผลิตออกมากแล้ว รักษาบุคลากรไว้ไม่ได้ ยังไงก็จะประสบปัญหาแบบเดิมอยู่ดี ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในสายตาผม

“ประเด็นปัญหาคือการพัฒนาตัวโครงสร้างพื้นฐาน ความเป็นอยู่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบงานให้มันดีกว่าเดิม อันนี้เป็นลำดับความสำคัญที่ สธ. ควรให้อยู่อันดับแรก ส่วนการผลิตบุคลากรเพิ่มก็ค่อยๆ ผลิตไป เพียงแต่ดูเรื่องคุณภาพด้วย ไม่ใช่ว่าเร่งผลิตให้จำนวนมาก แต่สุดท้ายถ้าเกิดปัญหาเรื่องของคุณภาพมาตรฐาน ก็จะส่งผลต่อเรื่องการดูแลรักษาประชาชนตามมาในอนาคต” รศ.นพ.ธีระ ระบุ

2

กระนั้น ก็ต้องเข้าใจว่าเรื่องโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่สิ่งที่ สธ. จะจัดการได้เพียงฝ่ายเดียว ฝ่ายอื่นๆ ต้องทำควบคู่กันไปด้วย เช่น หน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ ทั้งใน และนอกสังกัด สธ. ควรจะกระตุ้นหนุนเสริมให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ของปัญหาที่แท้จริงเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยสิ่งที่ประชาชนร่วมช่วยแก้ไขได้ก็คือการดูแลสุขภาพตนเองให้ดี หมั่นตรวจคัดกรองในเชิงสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งจะดีทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และแพทย์ในระบบสุขภาพ

ขณะเดียวกันก็พัฒนาระบบส่งต่อ ปรึกษา และสนับสนุน ในแต่ละภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาระบบการจ้างงานที่มีช่องทางหลากหลายมากขึ้นและเป็นธรรมต่อบุคลากรรุ่นใหม่ โดยให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม สวัสดิการ และช่วยให้แพทย์สามารถเพิ่มพูนความรู้ทักษะได้อย่างมีความสุข ทั้งผู้ที่จบจากสถานศึกษาภาครัฐ เอกชน หรือต่างประเทศ

นอกจากนี้ ด้วยระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยใหญ่ๆ 3 ระบบ อันได้แก่ ระบบบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายรัฐมนตรีมักจะดำเนินการในแง่ของการปรับชุดสิทธิประโยชน์ในการเบิกจ่ายงบประมาณ และสิทธิการรักษาให้มีความกลมกลืนเป็นมาตรฐานใกล้เคียงกันมากขึ้น

ทว่า ส่วนตัวที่ได้มีเข้าไปมีส่วนร่วมในหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่เห็นว่าน่าจะเป็นอีกปัญหาก็คือ เมื่อแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพจะบรรจุบริการใดเข้าสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนจะเน้นไปที่ความคุ้มค่าของเทคโนโลยีการดูแลรักษาเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์กับระบบสุขภาพในปัจจุบัน 

เนื่องจากระบบสุขภาพ ณ ขณะนี้ต้องการเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งคน เงิน และของ (เทคโนโลยี) และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้มีความพร้อมมากกว่านี้ มิฉะนั้นหากเน้นไปที่ความคุ้มค่าแบบเดิมเพียงอย่างเดียว จะทำให้เกิดปัญหาว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดจะภาระงานหนักก็จะกลับมาที่ระบบ ซึ่งยังไม่ค่อยมีความพร้อมเท่าไหร่ในการรองรับความต้องการดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น

รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ฉะนั้นทั้ง 3 ระบบ นอกจากการคิดถึงเรื่องเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนแล้ว อาจจะต้องมาคิดเรื่องของการลงทุนควบคู่ไปด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นเหมือนยาขมที่คนไม่ค่อยอยากจะพูดถึง เพราะไม่ว่า สธ. โรงพยาบาล หรืออื่นๆ เสนอของบประมาณจากสำนักงานงบประมาณไป ก็มักจะถูกปฏิเสธ ซ้ำร้ายอาจถูกตัดงบด้วย ถ้าไม่มีความเข้มแข็งจริง

“ตรงนี้ผมว่ามันเป็นวาระแห่งชาติอันหนึ่งที่ถ้าเรามองวิกฤตเรื่องของหมอลาออก อยากให้มองไปในภาพกว้างกว่านั้นในระดับมหภาคมากขึ้น แล้วดูว่าในระยะยาวอีก 10-20 ปีถัดจากนี้ไป เราอยากให้ประเทศไทยของเรามีระบบสุขภาพอย่างไรกันแน่ เนื่องจากหากปล่อยไว้แบบนี้จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานแกยากขึ้นเรื่อยๆ

“มีคนเคยเปรียบเทียบให้เราเห็นแล้วว่าระบบ NSH หรือระบบหลักประกันสุขภาพของสหรัฐอเมริกาที่เป็นรูปแบบหนึ่งที่ สธ. รวมถึง สปสช. นำมาเป็นโมเดลในการพัฒนาระบบสุขภาพไทย แต่ NSH เองตอนนี้ก็ประสบกับปัญหาอย่างหนักในลักษณะคล้ายๆ กัน ดังนั้นถ้าเรารู้ตัวแล้วยอมรับความจริง แล้วร่วมกันคิดแก้ไข ถือโอกาสรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา หากมีคนที่มีมุมมองไม่ยึดติดกับการทำงานที่ต้องทำแบบเดิม ถึงจะมีโอกาสที่จะแก้ไขได้ แต่ถ้าเอาคนมีแนวคิดแบบเดิม เหมือนที่แถลงข่าวเมื่อวาน ผมเชื่อว่าโอกาสแก้ไขได้มีน้อยมาก” รศ.นพ. ธีระ กล่าว