ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาแพทย์ทำงานหนัก-การขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพ กำลังเป็นประเด็นร้อนที่แก้ไขไม่ง่าย แต่ก็ดูมีความหวังมากขึ้น

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมายอมรับตรงไปตรงมาแล้วว่า เราขาดแคลนแพทย์จริง สาเหตุคือ ‘ผลิตได้น้อย’ (https://www.thecoverage.info/news/content/4997

นอกจากนี้ การแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ยังทำให้เห็นภาพและสัดส่วนการกระจายกำลังแพทย์ออกไปยัง 13 เขตสุขภาพ โดยพบว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีสัดส่วนแพทย์ต่อเขตสูงที่สุด ขณะที่เขตสุขภาพทางภาคอีสาน อย่างเช่น เขต 7, 8, 9, และ 10 จะได้รับน้อยกว่า 

สำหรับประเด็นการกระจายแพทย์ และจัดสรรให้แต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสมนั้น “The Coverage” พลิกงานวิจัยชิ้นที่จัดทำขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งชี้ให้เห็นสถานการณ์และข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่มีฐานจากวิชาการ

งานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่เมื่อปี 2565 มีชื่อว่า "การศึกษาทางเลือกเชิงนโยบายในการกระจายแพทย์ไปยังหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ขาดแคลนหรือห่างไกลในชนบท"  ที่มี ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล เป็นหัวหน้าทีมวิจัย 

งานวิจัยชี้ว่า เป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษ ที่รัฐบาลเดินหน้านโยบายเพิ่มการผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบ แม้จะมีแพทย์ที่เพิ่มขึ้น แต่ยังขาดนโยบายควบคุมการเคลื่อนย้ายแพทย์ที่ได้ผลอย่างจริงจัง 

ผลของการขาดการควบคุมนำไปสู่การกระจายแพทย์ไปในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมไปถึงยังเจอปัญหาการเพิ่มขึ้น และการลดลงของแพทย์ในแต่ละพื้นที่ ที่ส่งผลปัญหาในระบบสุขภาพ 

จากการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแพทย์รวม 121 คน และนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้ายอีก 400 คน รวมถึงการวิเคราะห์สถานการณ์กำลังคนจากข้อมูล และการทบทวนเอกสารเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยทุกมิติที่เรียกว่า STEEPV ซึ่งประกอบด้วย Social (สังคม), Technology (เทคโนโลยี), Economy (เศรษฐกิจ), Environment (สภาพแวดล้อม), Politic (การเมือง) และ Value (คุณค่า) ตลอดเวลา 5 ปี

พบว่ามีทางเลือกในเชิงนโยบาย รวม 10 ข้อ ที่มีความเป็นไปได้ในการจัดสรร และกระจายแพทย์ ประกอบด้วย 1. การเพิ่มโควต้าการรับนักเรียนจากชนบทเข้าเรียนแพทย์ 2. การขยายขอบเขตการทำงานของบุคลากรวิชาชีพอื่น 3. การพัฒนาระบบนิเทศสอนงานโดยผู้เชี่ยวชาญ 4. การช่วยเหลือในกรณีถูกฟ้องร้อง 5. การทำระบบการแพทย์ทางไกลให้เข้มแข็ง 

6. การจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานที่ยุติธรรม 7. การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้นสำหรับแพทย์ที่ทำงานในชนบท 8. การจัดการภาระงานแพทย์ให้เหมาะสม 9. การออกแบบระบบบริการสุขภาพของประเทศที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรของทุกภาคส่วนร่วมจัดบริการ และ 10. การกระจายอำนาจการบริหารจัดการแพทย์จากส่วนกลางไปในระดับเขต ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากงานวิจัยสะท้อนถึงการจัดภาระงานของแพทย์ที่เหมาะสม และไม่มีภาระงานที่ไม่หนักเกินไป เป็นอีกหนึ่งลักษณะของงานที่แพทย์รุ่นใหม่ให้ความสำคัญ อีกทั้ง การที่แพทย์มีพื้นเพชนบท ก็จะช่วยทำให้แพทย์อยู่ในชนบทได้ยาวนานกว่าด้วย 

ขณะที่ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว จะส่งผลถึงการจัดบริการสุขภาพด้วย โดยเฉพาะการการพัฒนาระบบสุขภาพทางไกล และการพัฒนาสุขภาพดิจิทัลที่เกิดการเปลี่ยนแปลง จะเป็นอีกตัวแปรที่จะลดความเหลื่อมล้ำการกระจายบุคลากรแพทย์ และเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนได้ 

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้ สะท้อนในตอนท้ายของผลการศึกษาว่าประเด็นผลกระทบจากการกระจายแพทย์ไปชนบทยังไม่สิ้นสุด และยังคงต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้านต่อไป โดยเฉพาะประเด็นข้อคิดเห็นในการจ้างงานรูปแบบอื่นอกจากตำแหน่งข้าราชการ และควรอุดหนุนการผลิตแพทย์ผ่านหน่วยบริการที่ต้องการแพทย์

อ้างอิงจาก 
https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/5755/hs2895.pdf?sequence=3&isAllowed=y