ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. จับมือ สช. สสส. และกรุงเทพมหานครรุกเสริมศักยภาพ “กรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร” จัดอบมรมความรู้สร้างความเข้าใจเครือข่ายภาคประชาชนที่เป็นกรรมการกองทุนในสัดส่วน “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน” เพื่อร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะในชุมชน และเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งผ่านการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. พร้อมดึง 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ร่วมเป็นพี่เลี้ยงสร้างเสริมสุขภาพ 


ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา สปสช. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร จัดการอบรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความรู้ให้กับแกนนำเครือข่ายประชาชน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ในการขับเคลื่อน “กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร” (กปท.กทม.) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน มีผู้เข้าร่วมอบรม 120 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) คณะกรรมการ กปท.กทม. และ เครือข่ายภาคประชาชน เป็นต้น 

1
 
ทั้งนี้ กปท.กทม. ได้มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตามมาตรา 47 ที่มีเป้าหมายสำคัญ คือการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยบริการสาธารณสุข และชุมชน เพื่อร่วมสร้างเสริมการจัดบริการสาธารณสุขที่จำเป็น เน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต การดูแลกลุ่มแม่และเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการสนับสนุนการจัดทำกิจกรรมโดยประชาชนหรือองค์กรประชนที่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานครได้ร่วมสมทบงบประมาณ กปท.กทม. นี้  
 
ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการเพื่อจัดบริการและกิจกรรมต่างๆ ด้านสุขภาพข้างต้นนี้ สามารถนำเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปท.กทม. ได้ โดยมีคณะกรรมการพิจารณา ดังนั้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน กปท.กทม. ที่นำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จึงได้นำมาสู่การจัดการอบรมพัฒนาศักยภาพฯ ในวันนี้ ให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์การดำเนินการกองทุนฯ การจัดบริการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ทำหน้าที่ของกรรมการได้ตามบทบาทอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพิจารณาโครงการ ในขณะเดียวกันยงให้คำแนะนำองค์กรชุมชนในพื้นที่ในการของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนฯ ได้ ตอบสนองต่อ่ปัญหาและเป็นประโยชน์ของชุมชน 

3

“ในการอบรมครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายนอกจาก หน่วย 50(5) แล้วยังมีผู้แทนจากสำนักงานเขตซึ่งเป็นทีมเลขานุการกองทุนฯ และ ผู้แทนจากศูนย์บริการสาธารณสุขเข้าร่วมด้วย เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการทำงานร่วมกัน และมีการจัดกิจกรรมเพื่อจำลองการวิเคราะห์ปัญหาชุมชน การเขียนโครงการของภาคประชาชนร่วมกัน ผลที่จะได้รับจากตัวโครงการจะนำส่งให้คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ระดับเขตพิจารณา โดยมีอาจารย์จาก 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ ได้แก่ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, มรภ.จันทรเกษม, มรภ.พระนคร, มรภ.ธนบุรี และ มรภ.สวนสุนันทา ผู้แทนกรุงเทพมหานคร สปสช. มาร่วมให้คำแนะนำ  ขณะเดียวกันยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของโครงการที่นำเสนอที่ได้รับการอนุมัติ และโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณา เพื่อเป็นการเรียนรู้และสามารถนำเสนอได้อย่างถูกต้อง” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว   

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้จากการอบรมนี้ ยังเกิดการเชื่อมโยงของกลุ่มต่างๆ ชุมชน และเครือข่ายที่กระจายอยู่ตามเขตพื้นที่ใน กทม. นำไปสู่เกิดการรวมตัวจนเป็นพลังที่ขับเคลื่อน กปท.กทม. ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพให้กับชุมชนต่อไป โดยมีทีมพี่เลี้ยงในพื้นที่ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับว่าเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการนำพาสู่ชุมชนสุขภาวะดีต่อไป

 นอกจากนี้ในเวทีอบรมได้มีการระดมความเห็นผู้เข้าร่วมอบรมฯ เพื่อพัฒนากองทุน มีข้อสรุป 4 ประเด็น ดังนี้ 1.ให้มีการสนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการกองทุนฯ โดยเฉพาะสัดส่วนภาคประชาชน 2. จัดให้มีกลไกพี่เลี้ยงในพื้นที่เพื่อสนับสนุนองค์กรภาคประชาชน 3.สร้างความเข้าใจต่อขั้นตอนการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ 4..มีกลไกการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานโครงการให้กับองค์กรภาคประชาชน