ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครั้งแรกในประเทศไทย สำหรับความสำเร็จที่น่ายินดี 

เมื่อ โดรนทางการแพทย์หรืออากาศยานไร้คนขับ สามารถผ่านการทดสอบบินข้ามน้ำ-ข้ามทะเล ขนส่งยาและเวชภัณฑ์จากโรงพยาบาลสตูล จ.สตูล ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปูยู (รพ.สต.ปูยู) จ.สตูล ได้อย่างลุล่วง

รวมระยะทางกว่า 12 กิโลเมตร

การทดสอบการบินอากาศยานไร้คนขับสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566 ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับทีม Skyports จากสิงคโปร์ และคณะกรรมการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์

วัตถุประสงค์สูงสุดคือ ร่วมปฏิบัติการยกระดับระบบบริการสุขภาพ ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้รวดเร็ว และสามารถนำไปใช้เป็น ‘โมเดลกลาง’ สำหรับพื้นที่อื่นทั่วประเทศต่อไป 

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ. มีนโยบายพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล โดยสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับระบบบริการสุขภาพให้ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพอย่างสะดวก ทั่วถึงและเท่าเทียม 

สำหรับการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับ ทั้งด้านการรักษาความปลอดภัย การขนส่งทางอากาศ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และเสนอแนะต่อคณะกรรมการการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ จ.สตูล เป็นพื้นที่ Sandbox ในการทดสอบรูปแบบและวิธีการใช้อากาศยานไร้คนขับ 

4

การทดสอบระบบการบินอากาศยานไร้คนขับในวันนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ใช้โดรนในการบินข้ามทะเล ขนส่งยาและเวชภัณฑ์ โดยขาไปนำวัคซีนบาดทะยัก จากโรงพยาบาลสตูล ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปูยู และขากลับนำเลือดมาส่งที่โรงพยาบาลสตูล รวมระยะทาง 12 กิโลเมตร โดยทีม Skyports จากประเทศสิงคโปร์ และคณะทำงานพัฒนาต้นแบบการใช้อากาศยานไร้คนขับสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์ นำโดย นาวาอากาศเอก อนุกูล อ่อนจันทร์อม นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 65 (วปอ.65) ร่วมปฏิบัติการทดสอบ 

สำหรับโดรนที่ใช้ปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นสุดยอดนวัตกรรมอากาศยานจาก Skyports Swoop Aero รุ่น Swoop Kookaburra Mark 3 ตัวเครื่องมีน้ำหนัก 17 กิโลกรัม สามารถบรรทุกน้ำหนักได้ 3 กิโลกรัม ความเร็วสูงสุดที่ 68 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะเวลาการบินต่อเนื่อง 68 นาที และฝ่าฝนไม่เกิน 10 มิลลิเมตร/ชั่วโมง 

ในส่วนการขนส่งทางการแพทย์ด้วยอากาศยานไร้คนขับเป็นไปตามมาตรฐานสากล ผ่านการอนุญาตของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บินทดสอบและสาธิตอย่างเต็มระบบ โดยเฉพาะระบบการควบคุมการบินด้วยการสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่งจะสามารถปฏิบัติการบินได้ทุกพื้นที่ในประทศ 

อีกทั้งที่ผ่านมาคณะทำงานพัฒนาต้นแบบอากาศยานไร้คนขับสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์ ได้มีการทดสอบการบิน Qulity Test ขนส่งเลือดร่วมกับ Vertical Team นำโดยคุณทรรศิกา สีสุ่น หัวหน้าทีมพัฒนาอากาศยานไร้คนขับแบบ VTOL ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้สร้างความมั่นใจให้กับคณะเจ้าหน้าที่ทำงาน ที่จะทำการบินทดสอบในพื้นที่จริงในครั้งนี้  

“หากการทดสอบในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ จะช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเข้าถึงยากลำบาก เมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ก็สามารถใช้โดรนสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์ ขนส่งยา วัคซีน เลือด เซรุ่ม ที่จำเป็นได้ รวมถึงนำไปใช้เป็นโมเดลกลางปฏิบัติภารกิจในพื้นที่อื่นทั่วประเทศต่อไป” นพ.โสภณกล่าว 

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จ.สตูล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล โรงพยาบาลสตูล เทศบาลเมืองสตูล องค์การบริหารส่วนตำบลตำมะลัง องค์การบริหารส่วนตำบลปูยู ตำรวจภูธรจังหวัดสตูล องค์การเภสัชกรรม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กสทช. กรมศุลกากร และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด