ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมือชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย จัดรถทันตกรรมออกให้บริการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากแบบ one stop service แก่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาในพื้นที่ กทม. รวมกว่า 1 แสนคน 


รศ.ทพ.แสวง โพธิ์ไทรย์ ประธานชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงอนุญาตให้สถานพยาบาลหรือคลินิกมีรถทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อให้บริการนอกสถานที่ได้ โดยเปรียบเสมือนการให้บริการในหน่วยบริการ สถานพยาบาลที่มีรถทันตกรรมจึงรวมกลุ่มกันในนามชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกรณีฉุกเฉิน ปัจจุบันมีหน่วยบริการที่เป็นสมาชิก 6 แห่ง มีรถทันตกรรมเคลื่อนที่พร้อมให้บริการประมาณ 10 คัน และอยู่กำลังอยู่ระหว่างการจดทะเบียนเป็นสมาคมเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล

2

รศ.ทพ.แสวง กล่าวต่อไปว่า ลักษณะของรถทันตกรรมนั้นทุกอย่างจะเหมือนอยู่ในคลินิก มีทั้งพื้นที่ซักประวัติ/ทำทะเบียน มียูนิตทำฟัน 2-3 ชุด มีระบบไหลเวียนอากาศ เครื่องฟอกอากาศ ระบบฆ่าเชื้อ ระบบไฟฟ้าสำรอง ระบบน้ำดีน้ำเสีย มีอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำหัตถการครบถ้วน รวมทั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิตกรณีฉุกเฉิน โดยมีทันตแพทย์ 2 คนต่อรถ 1 คัน ซึ่งข้อดีของรถทันตกรรมคือทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการให้บริการในโรงเรียน เดิมทีทันตแพทย์ต้องไปตรวจที่โรงเรียน เมื่อตรวจเสร็จก็ต้องให้ครูหรือผู้ปกครองพานักเรียนไปทำฟันที่คลินิก ขั้นตอนนี้ทำให้ต้องลางานและมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ในกรณีรถทันตกรรม ออกไปครั้งเดียวสามารถให้บริการได้ครบวงจรตั้งแต่การให้ความรู้ เคลือบฟลูออไรด์ และการทำหัตถการอื่นๆ เช่น อุดฟัน ถอนฟันโดยไม่ต้องมาที่คลินิก เป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาขนได้อย่างดี

รศ.ทพ.แสวง กล่าวอีกว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทางหน่วยบริการที่เป็นสมาชิกของชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่ฯ จะร่วมให้บริการเชิงรุกในโรงเรียนพื้นที่ กทม. ตามสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้านทันตกรรมในระบบบัตรทอง โดย สปสช. ได้มอบหมายให้สถานพยาบาลที่มีรถทันตกรรมออกจัดบริการเชิงรุกแก่นักเรียนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ชั้นอนุบาล ป.1 และ ป.6 ในพื้นที่ กทม. ครอบคลุมตั้งแต่การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพฟัน การตรวจฟัน เคลือบฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ รวมถึงแจกยาสีฟัน แปรงสีฟันให้นักเรียน โดยมีโรงเรียน เป้าหมาย 422 แห่ง จำนวนนักเรียน 110,207 คน 

3

“รถทันตกรรม 1 คัน สามารถให้บริการนักเรียนเฉลี่ยประมาณ 70-100 คนต่อวัน ใน 1 เดือน ออกให้บริการ 15 วันก็จะได้เดือนละ 1,500 คน ถ้ารวมทั้ง 10 คันก็จะให้บริการได้เดือนละ 15,000 คน ทั้งปีให้บริการประมาณ 6-7 เดือนก็จะครอบคลุมจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ สปสช. กำหนดให้พอดี”รศ.ทพ.แสวง กล่าว

รศ.ทพ.แสวง กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ทางชมรมฯ ได้เริ่มให้บริการตามโรงเรียนต่างๆไปบ้างแล้ว และน่ายินดีที่ได้ผลตอบรับดีมากจากทั้งผู้ปกครอง ครู และนักเรียน บางครั้งก็ได้ขนมเป็นของฝาก ทำให้เกิดความสุขผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ส่วนทิศทางการดำเนินงานในอนาคต หาก สปสช. ขยายพื้นที่บริการไปในต่างจังหวัดจะดีมาก เพราะในต่างจังหวัดยังมีความลำบากในการเดินทาง การให้นักเรียนมาที่สถานพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ดังนั้น ถ้าขยายบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ไปในต่างจังหวัดได้ เชื่อว่าจะสร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ เพิ่มการเข้าถึงบริการและทำให้ประชาชนในชนบทมีสุขภาพช่องปากที่ดี

3