ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่ต้องรักษาตัวในหน่วยบริการมีสูงถึง 1.1 แสนคน และทำให้ต้องมีงบประมาณในการดูแลรักษาสูงถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเกือบทั้งหมดทุ่มไปกับการรักษาผู้ป่วยไตวายในระยะสุดท้าย ที่ต้องได้รับการล้างไตผ่านทางช่องท้อง ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมไปถึงค่าน้ำยาล้างไตด้วยเช่นกัน

จำนวนผู้ป่วยที่สูงขึ้น และมีแนวโน้เพิ่มขึ้นด้วย ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบมายังงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่สูงลิ่วตาม แนวทางการลดงบประมาณเพื่อการรักษา ปรับเปลี่ยนมาเป็นการคัดกรองเพื่อป้องกันเอาไว้ก่อนไปสู่การรักษาระยะสุดท้าย จึงเป็นเรื่องที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กำลังพยายามผลักดัน

นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ระบุถึงประเด็นนี้กับ “The Coverage” อย่างน่าสนใจ โดยให้ภาพว่า ขณะนี้สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กำลังศึกษาและพิจารณากันอย่างจริงจัง ที่จะให้เป้าหมายคือประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยโรคไต ได้มีการคัดกรองตรวจค่าไต รวมไปถึงการผลักดันให้ 'ยาชะลอไตเสื่อม' เข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ที่หากคัดกรองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงจะเป็นโรคไต ได้เข้าถึงยาชะลอไตเสื่อม

“วิธีนี้จะมีความคุ้มค่ากว่าการทุ่มงบประมาณเพื่อรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายอย่างแน่นอน” นพ.วุฒิเดช ระบุ

นพ.วุฒิเดช ขยายความว่า หากมีผลการศึกษาถึงความคุ้มค่า และมีการผลักดันให้ยาชะลอไตเสื่อมเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ จะทำให้ผู้ป่วยทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพได้เข้าถึงยานี้อย่างเท่าเทียม และที่สำคัญ จะเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคไตในระยะต้น เข้าสู่ระยะไตวายเรื้อรัง ที่ต้องรักษาตัวผ่านการล้างช่องท้อง หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

1

"เราพบแนวโน้มว่าคนไทยจะป่วยด้วยโรคไตมากขึ้น เพราะมาจากพฤติกรรมการบริโภค การใช้ชีวิตของคนไทยด้วยส่วนหนึ่ง และมาจากโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน และความดัน ที่เป็นสาเหตุของโรคไตด้วยเช่นกัน ดังนั้น มันจะดีกว่ามาก หากมีการป้องกันกลุ่มเสี่ยงเอาไว้ก่อน ทั้งการคัดกรอง หรือแม้แต่การให้ยาชะลอไตเสื่อมเพื่อไม่ให้ต้องรักษาร่างกายด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไต" นพ.วุฒิเดช กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.วุฒิเดช ให้ภาพว่า ระบบการเข้าถึงบริการการรักษาของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะกับประชาชนสิทธิบัตรทองนับว่าภาครัฐดำเนินการมาได้อย่างดี ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการรักษาได้มากขึ้น และยังสามารถเลือกรับการรักษาตามที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นการล้างไตผ่านช่องท้องที่ทำได้เองที่บ้าน หรือไปรับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตามหน่วยบริการ เป็นการสร้างความสะดวกให้กับประชาชน

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายได้เข้าสู่การรักษาที่เลือกได้เองมากขึ้นนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่  1 ก.พ.2565 เป็นต้นมา ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บรรจุสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนสิทธิบัตรทอง ให้สามารถเลือกวิธีฟอกไตด้วยตนเองตามแบบที่เหมาะสม แต่ก็ยังพบปัญหาตามมาอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ป่วย ไม่ปรึกษากับแพทย์โรคไตที่เชี่ยวชาญเพื่อเลือกหาวิธีที่เหมาะสมในการรักษา แต่ไปพบว่าเลือกที่จะเชื่อจากผู้ป่วยด้วยกัน และมีส่วนใหญ่ทีเดียว ที่สุดท้ายแล้วก็เลือกแนวทางที่ไม่เหมาะกับตัวเอง

นพ.วุฒิเดช ขยายความว่า เพราะการรักษาโรคไตระยะสุดท้าย ทั้งการล้างไตผ่านช่องท้อง และการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน การล้างไตผ่านช่องท้องจะสะดวกที่ทำได้เองที่บ้าน แต่ข้อเสียสำหรับบางคนคือต้องทำทุกวัน และต้องมีสภาพแวดล้อมที่สะอาด เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ

ส่วนการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดทำเส้นเลือดเทียม และเส้นเลือดถาวรเพื่อการฟอกไต จากนั้นไปยังหน่วยบริการเพื่อฟอกเลือด้วยเครื่องไตเทียม สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ข้อดีคือไม่ต้องทำเอง แต่ก็ต้องเสียเวลาฟอกเลือดนานครั้งละ 4 ชั่วโมง รวมถึงมีค่าใช้จ่ายแฝงด้วย โดยเฉพาะค่าเดินทางที่ต้องไปฟอกเลือดยังหน่วยบริการ

"การเลือกวิธีการรักษาของผู้ป่วยไตวาย ที่ไม่ปรึกษากับแพทย์ที่เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาหาทางที่เหมาะสมด้วยกันก็จะมีปัญหาตามมา อย่างเช่น ร่างกายของผู้ป่วยที่เลือกวิธีฟอกเลือด อาจทำให้ความดันตก มีภาวะแทรกซ้อนตามมา ทำให้ได้รับการรักษาไม่เต็มที่ตามประสิทธิภาพ สุดท้ายก็พบว่าเปลี่ยนวิธีการรักษาอยู่บ่อยครั้ง" นพ.วุฒิเดช กล่าว

เมื่อเป็นเช่นนั้น นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย แนะนำว่า การเลือกแนวทางการรักษาร่วมกับแพทย์ เพื่อพิจารณาร่วมกันว่าแนวทางไหนที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด เพื่อให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

4

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะต้น รวมไปถึงกลุ่มที่ยังไม่ป่วยเองก็ตาม สิ่งหนึ่งที่นพ.วุฒิเดช มีความกังวล คือการพบเห็นโฆษณาเกี่ยวกับอาหารเสริม หรือยาสมุนไพรต่างๆ ที่อ้างว่าสรรพคุณว่าสามารถบำรุงไต และชะลอไม่ให้ไตเสื่อมได้ กระจายไปยังทุกมุมเมืองอยู่ในขณะนี้ ซึ่งถือเป็น 'ความเสี่ยง' ต่อประชาชนอย่างมาก ที่หากหลงเชื่อและบริโภคอาหารเสริม และสมุนไพรที่เกินจำเป็น จะยิ่งทำให้ไตมีการทำงานหนักมากขึ้น ส่งผลให้เกิดไตวายได้เช่นกัน อีกทั้ง ระยะหลังที่พบผู้ป่วยโรคไตมากขึ้น มีการสอบถามก็พบว่าส่วนใหญ่กินอาหารเสริม และสมุนไพรที่เกินความจำเป็น ทำให้ไตทำงานหนักและนำไปสู่โรคไตในที่สุด

แม้ว่าสมาคมโรคไตแห่งประเทศ และสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย จะติดตามโฆษณาอาหารเสริม สมุนไพรต่างๆ ที่อ้างสรรพคุณเกินจริง และส่งเรื่องให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และแพทยสภา เพื่อให้ดำเนินการกับผู้ที่ให้ข้อมูลผิดๆ อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญ นพ.วุฒิเดช มองว่า คือการต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนถึงแนวทางการรักษาสุขภาพของตัวเอง  ป้องกันไว้ก่อนที่โรคไตจะถามหา

"สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยเอง จะผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคไตจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญอย่างครบทุกมิติ รวมถึงการรักษาดูแลสุขภาพที่ถูกต้องเพื่อป้องกันโรคไต ทั้งกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ป่วยไปแล้ว และยังจะมีแนวปฏิบัติที่ให้ผู้ป่วยได้ประเมินพฤติกรรมของตัวเองว่าเสี่ยงจะเป็นโรคไตหรือไม่ เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ทัน" นพ.วุฒิเดช กล่าว

แนวทางเบื้องต้นที่จะช่วยให้ประชาชนหลีกไกลจากโรคไตได้ นพ.วุฒิเดช ทิ้งท้ายว่า หากยังไม่ป่วยเป็นโรคไต ต้องใส่ใจกับสุขภาพ อาหารที่บริโภค เพิ่มการออกกำลังกายให้ตัวเองมากขึ้น และที่สำคัญคือ ต้องหลีกเลี่ยงอาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ไม่จำเป็นกับร่างกาย ส่วนคนที่ป่วยไปแล้วและต้องได้รับการรักษา ก็ต้องคุมและรักษาโรคให้ดี มากไปกว่านั้น ก่อนการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาขอให้พิจารณาและปรึกษาร่วมกันกับแพทย์ หากรักษาได้ดี มีความต่อเนื่อง ก็อยู่ได้นับสิบๆ ปีเช่นกัน