ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เขต 13 กทม. ร่วมกับ ชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย และ สช. ปล่อยคาราวาน “รถทันตกรรมเคลื่อนที่” คิกออฟบริการเชิงรุกชุดสิทธิประโยชน์ทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน  ดูแลนักเรียนชั้นปฐมวัยและชั้น ป.1, 2, 6 รวมกว่าช 2.9 แสนคน ในโรงเรียนสังกัด สช. และ สพฐ พื้นที่เขตกรุงเทพฯ รวม 453 แห่ง ทั้งบริการตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน เคลือบฟูลออไรด์และเคลือบหลุมร่องฟัน สร้างพื้นฐานสุขภาพฟันที่ดีให้เด็กไทยในอนาคต


เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 - สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมแถลงข่าว “เปิดตัวบริการทันตกรรมเชิงรุกด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่ ยิ้มสดใส เด็ก กทม. ฟันดี ในโรงเรียน สังกัด สช. และ สพฐ พื้นที่ กทม.” พร้อมปล่อยคาราวานรถทันตกรรมเคลื่อนที่ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อออกให้บริการด้านทันตกรรมส่งเสริมป้องกันเชิงรุกให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามสิทธิประโยชน์บริการทันตกรรม ภายใต้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) พร้อมติดตามการให้บริการที่โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ไกรอำนวยวิทยา   
 
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สุขภาพช่องปากและฟันที่ดีจะนำมาสู่การมีสุขภาพที่แข็งแรงได้ เด็กๆ จึงควรได้รับการดูแลช่องปากและฟัน กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) จึงได้มีชุดสิทธิประโยชน์ทันตกรรมด้านส่งเสริมป้องกันให้กับเด็กไทย และเพื่อให้เด็กๆ ใน กทม. ได้รับบริการอย่างทั่วถึง ที่ผ่านมา สปสช. เขต 13 กทม. ได้ดำเนินการนโยบายเชิงรุก โดยประสานกับขมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย นำ “รถทันตกรรมเคลื่อนที่” ออกให้บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกันในโรงเรียน สำหรับเด็กนักเรียนชั้นปฐมวัย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1, 2 และ 6 เบื้องต้นจากการให้บริการช่วง 1 เดือน ในปี 2565 ที่ผ่านมา ด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่ 2 คัน จากหน่วยบริการ 1 แห่ง สามารถให้บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกันกับเด็กๆ จำนวน 5,891 คน โดยเป็นการเคลือบฟลูออไรด์ 5,573 คน และเคลือบหลุมร่องฟัน 2,506 คน   

1

“จากประสิทธิผลบริการส่งเสริมป้องกันเชิงรุกด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่นี้ ในปีงบประมาณ 2566 สปสช. เขต 13 กทม. ได้ประสานกับชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่ฯ โดยเพิ่มหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการรถทันตกรรมเคลื่อนรวมเป็น 4 แห่ง ทำให้มีรถทันตกรรมเคลื่อนที่จำนวนทั้งสิ้น 10 คัน ออกตรวจสุขภาพช่องปากและฟันให้กับเด็กๆ ชั้นปฐมวัย ชั้น ป.1, 2 และ 6 จำนวน 288,700 คน ในโรงเรียนพื้นที่ กทม. จำนวน 453 แห่ง ภายใต้สังกัด สช. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งในส่วนของโรงเรียนสังกัด กทม. จะอยู่ภายใต้การบริการโดยศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งของกรุงเทพมหานคร เชื่อมั่นว่าจากความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การสร้างพื้นฐานสุขภาพฟันที่ดีให้กับเด็กๆ ในอนาคต” เลขาธิการ สปสช. กล่าว  
 
รศ.ทพ.แสวง โพธิ์ไทรย์ ประธานชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่ฯ และคลินิกทันตกรรมที่ให้บริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้กับเด็กไทย ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับเด็กๆ ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ทันตกรรมด้านส่งเสริมป้องกัน กองทุนบัตรทอง ทั้งการตรวจสุขภาพช่องปาก การเคลือบฟลูออไรด์และเคลือบหลุมร่องฟัน ให้บริการโดยทีมทันตแพทย์ ซึ่งรถทันตกรรมเคลื่อนที่นี้มีเครื่องมือทันตแพทย์ที่ครบวงจรและทันสมัย เป็นไปตามมาตรฐานบริการทันตกรรมและผ่านการรับรองโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข   

2

สำหรับคลินิกทันตกรรมที่ร่วมให้บริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ในปี 2566 นี้มี 4 แห่ง ประกอบด้วย คลินิกทันตกรรมฟอร์จูนเชียงใหม่ จำนวน 5 คัน คลินิกบางกอกสไมล์ จำนวน 3 คัน บ้านรักยิ้ม 2 Dental deliver จำนวน 1 คัน และโกโก้สไมล์ จำนวน 1 คัน รวมเป็นจำนวน 10 คัน 

“เด็กชั้นปฐมวัย และชั้นประถมศึกษา เป็นช่วงวัยแห่งการเจริญเติบโตของร่างกายรวมถึงฟันและขากรรไกร จำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน เพราะหากมีฟันผุและปล่อยไว้จนลุกลาม ก็อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมาได้ ทั้งนี้บริการทันตกรรมด้านส่งเสริมป้องกันนี้ เป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้เด็กไทยมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี” ประธานชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่ฯ กล่าว      
  
ขณะที่ นายธเนตร สภานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมการจัดการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า สช. มีการส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียนเอกชนในการดูแลสุขภาพเด็กนักเรียน ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กรมอนามัย บรรจุไว้ในระบบประกันคุณภาพภายในของโรงเรียน ทั้งนี้หากเด็กวัยเรียนมีปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุ ปวดฟัน เหงือกอักเสบ เป็นต้น ย่อมกระทบต่อคุณภาพชีวิตเชิงลบของเด็กอย่างมาก ซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกลูคอร์ติคอยด์ มีผลรบกวนการนอนหลับ เมื่อเด็กพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเจริญเติบโตลดลง (growth hormone) มีผลให้ร่างกายเติบโตช้ากว่าปกติได้ นอกจากนี้หากประสิทธิภาพบดเคี้ยวลดลงจะทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตจากการขาดสารอาหารได้ (อ้างอิงจากงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ทันตแพทย์ชนินทร์ เตชะประเสริฐวิทยา เรื่อง โรคปริทันต์และกระบวนการรักษา)  

3

นอกจากนี้ยังทำให้เด็กขาดเรียน ไม่มีสมาธิ รวมถึงถ้าสูญเสียฟันเร็วกว่าปกติ มีผลต่อพัฒนาทักษะด้านการพูด การร่วมกิจกรรมในห้องเรียนและสังคมจะลดลง มีผลให้การเรียนตกต่ำ ความเชื่อมั่นในตนเองน้อยลง เกิดปัญหาด้านจิตใจและความวิตกกังวล ส่งผลต่อเนื่องในระยะยาวต่อการศึกษา และการพัฒนาทักษะความรู้ด้านต่าง ๆ (วิทยาสารทันตแพทย์ศาสตร์ 2553) 

“บริการทันตกรรมด้านส่งเสริมป้องกันด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่เชิงรุกในโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ กทม.จากความร่วมมือในวันนี้ เด็กๆ ในโรงเรียนเอกชนจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน  เป็นการใช้สิทธิประโยชน์จากบัตรทองที่คุ้มค่า ซึ่ง สช. มีความยินดีและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่” นายธเนตร กล่าว  

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw