ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 มีการประชุม Side Meeting ในการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2562 ในหัวข้อ ความคิดริเริ่มด้านการป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพ ผ่านเครือข่ายผู้ป่วยและรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อรำลึกถึง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้ริเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย

โกรัน ธอมป์สัน ศาสตราจารย์อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยสุขภาพระหว่างประเทศ ประจำสถาบัน Karolinska ประเทศสวีเดน กล่าวเปิดงาน ระบุว่า มีโอกาสพบกับ นพ.สงวน เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว โดย นพ.สงวน เดินทางมาหารือ เพื่อเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในไทย

ขณะนั้นยังไม่มีประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ ประเทศไหน ที่สามารถทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือการ "รักษาฟรี" ได้สำเร็จ แต่ นพ.สงวน และทีม เชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้ เพราะนอกจากจะต้องมีงบประมาณเพียงพอแล้ว ระบบโรงพยาบาล บุคลากร จะต้องมีมากพอ ที่จะทำให้ระบบเกิดขึ้นได้จริง

โกรัน บอกว่า หลังจากนั้น เขาเดินทางมาประเทศไทย ตามคำเชิญของ นพ.สงวน เพื่อดูงานโรงพยาบาลอำเภอ และสถานีอนามัยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วก็พบว่า ประเทศไทยน่าจะทำได้จริง เพราะมีสถานพยาบาลที่มีความพร้อม มีบุคลากรที่ตั้งใจ

เหลือเพียงอย่างเดียว ฝ่ายการเมือง และฝ่ายนโยบาย จะต้องเห็นพ้องด้วย...

หลังจากนั้นไม่นาน ในที่สุด นพ.สงวน ก็สามารถโน้มน้าวกับพรรคการเมือง และรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อทำให้ "30 บาทรักษาทุกโรค" เกิดขึ้นได้ ทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศแรกในโลกที่ไม่ได้ร่ำรวย แต่สามารถสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จ

หลังจากนั้น นพ.สงวน ได้สร้างระบบที่ทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ได้เป็นเรื่องของรัฐบาล เรื่องของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเดียว แต่ทำให้เป็นของประชาชน

ผ่านการร่วมมือของทั้งภาคประชาชน เอ็นจีโอ รวมถึงสิ่งใหม่ในขณะนั้น อย่าง "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ให้เข้ามาช่วยกันประกอบสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แข็งแรง

ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ระบบ ขยายจากการ "รักษา" เพียงอย่างเดียว ไปสู่ระบบการส่งเสริมสุขภาพ- ป้องกันโรคด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ระบบของไทยยังไม่ได้ดีเลิศ แต่ นพ.สงวน ผู้ล่วงลับ ได้เป็นผู้ริเริ่มระบบนี้ ไม่ใช่แค่ในไทยอย่างเดียว แต่เป็นจุดกำเนิดสำคัญที่ทำให้โลกได้เห็นว่า ประเทศอื่นๆ ก็สามารถสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เช่นกัน

ผลลัพธ์ก็คือ องค์การสหประชาชาติ ประกาศเมื่อปี 2558 ให้ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" เป็นหนึ่งใน "เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน" เพื่อผลักดันให้ทั่วโลกสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ได้ภายในปี 2573 

หากทำสำเร็จ จะช่วยชีวิตคนทั่วโลกได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจน ที่คนมหาศาลเสียชีวิตจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาราคาถูกได้

"ด้วยเหตุนี้ นพ.สงวน จึงไม่ได้เป็นแค่ผู้สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีบทบาทสำคัญ ให้ทั่วโลกสร้างระบบสุขภาพถ้วนหน้า ตามรอยประเทศไทยอีกด้วย" โกรัน ระบุ

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิมิตรภาพบำบัด บอกว่า ภาคประชาชน ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย และหากไม่มีภาคประชาชน ก็คงไม่ได้เห็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประสบความสำเร็จอย่างในวันนี้

ขณะเดียวกัน ภาคประชาชน ที่ นพ.สงวน ริเริ่มให้มีส่วนร่วมกับนโยบาย ก็ยังทำหน้าที่อย่างแข็งแกร่ง ตั้งแต่ปี 2543

เริ่มตั้งแต่การลงชื่อมากกว่า 6 หมื่นรายชื่อ เพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 หรือการเริ่มต้นของ "กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ" เพื่อรักษาระบบให้ได้มาตรฐาน และสืบทอดเจตนารมย์ของ นพ.สงวนไว้

ตัวชี้วัดสำคัญก็คือ ประชาชน 49 ล้านคนที่ใช้สิทธิ์ "บัตรทอง" มีความพอใจมากกว่ากลุ่มผู้ประกันตน 10 ล้านคน ที่ใช้สิทธิ์ประกันสังคม และกลุ่มข้าราชการที่ใช้สิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

แม้ "30 บาทรักษาทุกโรค" จะมาหลังสุด แต่ความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการกลับมากที่สุด

แม้โครงการจะได้รับการยกย่องไปทั่วโลก แต่ก็ยังมีความท้าทายจากบรรดา "นักการเมือง" และบรรดาผู้มีอำนาจในรัฐบาลจำนวนหนึ่ง ที่พยายามบิดเบือนหลักการ และพยายามยกเลิกนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

ด้วยเหตุนี้ ภาคประชาชน จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่ "ปกป้อง" อย่างใกล้ชิด และยังคงต้องติดตามการทำงานของทั้ง สปสช. ทั้งรัฐบาล ตลอดเวลา

นอกจากจะมีภาคประชาชนที่เข้มแข็งแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่กระตือรือร้นไม่แพ้กัน เห็นจะเป็น "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"

ตัวอย่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง หนีไม่พ้น พูลสวัสดิ์ ถือคง นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระงาม จ.ลพบุรี ได้รับรางวัลบริการสาธารณะยอดเยี่ยม จากองค์การสหประชาชาติ ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2560

เทศบาลตำบลเขาพระงาม เป็นเจ้าของโครงการ "บ้านต้นแบบสุขภาวะผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ" จากการนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อจัดบริการดูแลทั้งผู้สูงอายุ และเด็ก ในพื้นที่

การดูแลของเทศบาลเขาพระงาม เริ่มจากการสำรวจผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการในพื้นที่ ตามด้วยการจัดหาทีมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เข้าไปดูแลกลุ่มคนเหล่านี้สัปดาห์ละครั้ง

และตามมาด้วยแพทย์จากโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช และโรงพยาบาลอานันทมหิดล เข้าไปติดตามเดือนละครั้ง

เทศบาลตำบลเขาพระงาม ยังเพิ่มความท้าทายใหม่ๆ ด้วยการติดตามกลุ่มที่จะมีอายุเกิน 60 ปี ในอนาคตอันใกล้ เพื่อประเมินว่ามีใครบ้างที่เสี่ยงจะเป็นโรคในอนาคต เพื่อส่งทีมเข้าไป "ป้องกัน" ก่อนที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ 

ขณะเดียวกัน ก็แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มติดสังคม ติดบ้าน และติดเตียง

ส่วนกลุ่มติดเตียง พูลสวัสดิ์ สร้างระบบดูแลแบบประคับประคอง กลุ่มติดบ้าน ก็จัดหา "ผู้ดูแล" เข้าไปติดตามเป็นประจำ รวมถึงสร้างระบบที่สามารถขอความช่วยเหลือจาก รพ.สต. ได้ตลอดเวลา

ที่น่าสนใจคือกลุ่มติดสังคม ที่เทศบาลฯ จัดให้อบรมร่วมกับเด็กๆ ชั้นประถม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาษาอังกฤษ หรือการเรียนจินตคณิต รวมถึงการเต้นแอโรบิค - การดูแลสุขภาพ เบื้องต้น 

"เป็นการสร้างความใกล้ชิดมากขึ้น ระหว่างผู้สูงอายุ และเด็กในพื้นที่ ให้เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะในเวลาที่พ่อแม่เด็กต้องออกไปทำงาน สองกลุ่มนี้จะใกล้ชิดกันมากที่สุด รวมถึงต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย" พูลสวัสดิ์ระบุ

ทั้งหมดนี้ พูลสวัสดิ์ ได้รับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ในเรื่องการส่งเสริม-ป้องกันสุขภาพระดับพื้นที่เพื่อทำให้โครงการดูแลผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นไปโดยราบรื่นที่สุด

ในอนาคต เทศบาลตำบลเขาพระงาม วางแผนเป็น "เมืองอัจฉริยะ" ขยายการบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น และอาศัยสมาร์ทโฟน อาศัยแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงผู้สูงอายุในพื้นที่ เชื่อมต่อกับ รพ.สต. และหมอในโรงพยาบาลชุมชนให้ครอบคลุมขึ้น

สะท้อนให้เห็นว่า การเริ่มต้นของ นพ.สงวน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ไม่ได้เป็นแค่นโยบายที่เกิดขึ้นแล้วจบไป แต่ ณ ขณะนี้ สามารถฝังรากลึกไปถึงระดับชุมชน สามารถนำประโยชน์จากโครงการ ไปสร้างความยั่งยืนให้ตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพิงการสั่งการจากส่วนกลางอีกต่อไป...

ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562