ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็เสื่อมสภาพลง โรคภัยไข้เจ็บก็ราวกับเพื่อนสนิทที่วนเวียนเข้ามาเยี่ยมไม่ขาดสาย

อย่างไรก็ดี พอพูดถึงโรคต่างๆ ของผู้สูงอายุ คนมักจะคิดถึงถึงแต่โรคร้ายแรง แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนยังไม่ค่อยตระหนักรู้นอกจากจะเผชิญด้วยตัวเอง นั่นคือ ปัญหาการสูญเสียฟัน ซึ่งแม้จะไม่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น

แต่ก็เป็นต้นตอของการเกิดโรคภัยอื่นๆ ตามมา และที่สำคัญคือคุณภาพชีวิตของผู้ที่สูญเสียฟันนั้นย่ำแย่ลงอย่างมาก

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เล่าว่า จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพระดับประเทศทุก 5 ปี ของกรมอนามัย พบว่า ในปี 2560 ผู้สูงอายุ 60-74 ปี มีฟันแท้เฉลี่ย 18 ซี่/คน และเมื่ออายุ 80-85 ปี ลดลงเหลือเพียง 10 ซี่/คน และยังพบผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากถึง 8.7%

1

นพ.สุวรรณชัย อธิบายต่อไปว่า การสูญเสียฟันนั้น ส่งผลกระทบในหลายมิติ ในมิติด้านสุขภาพ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเกิดภาวะแทรกซ้อนในช่องปาก เช่น โรคเบาหวาน มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบ หรือหากผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี จะส่งผลให้ปัญหาในช่องปากทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจนสูญเสียฟัน รวมถึงรอยโรคในช่องปาก อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนก็มักจะสูงตามไปด้วย อีกทั้งรอยโรคในช่องปากในบางรายก็อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

นอกจากมิติด้านสุขภาพแล้ว ยังส่งผลต่อในเรื่องการใช้งาน เช่น การกินอาหาร เมื่อไม่มีฟันสำหรับบดเคี้ยว ทำให้ต้องทานเฉพาะพวกอาหารนิ่มๆ มีแต่แป้ง ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรง หรือเรื่องอารมณ์ เช่น การพูดไม่ชัด ไม่กล้ายิ้ม ความไม่มั่นใจหรือไม่กล้าออกไปพบปะสังสรรค์กับผู้คน และบางรายยังมีผลในเรื่องของการนอนหลับ เช่นเดียวกับมิติด้านการเงิน การรักษาอาจมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากสิทธิ์รักษาพยาบาล หรือขั้นต่ำก็คือต้องลางานไปรับการรักษาจนเกิดการการสูญเสียรายได้

ทั้งนี้ การรักษาผู้ที่สูญเสียฟัน ก็คือต้องทำฟันเทียมมาใส่เพื่อให้สามารถกลับมาบดเคี้ยวอาหารได้ และในกรณีที่คนๆ นั้นมีเหงือกและกระดูกกรามแบนจนไม่สามารถใช้ฟันเทียมได้ ก็ต้องมีการฝังรากฟันเทียมเข้าถึงกระดูกเพื่อเป็นตัวยึดให้ฟันเทียมมีความแน่นหนา ไม่กระกดเมื่อใช้บดเคี้ยวอาหารนั่นเอง

อย่างไรก็ดี การรักษาไม่ว่าจะเป็นการทำฟันเทียม หรือฝังรากฟันเทียม หากต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเอง จะมีราคาที่ค่อนข้างแพง เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อย ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุ ในอดีตคือโครงการฟันเทียมพระราชทาน โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และในปัจจุบันก็คือโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ทั้งหมดนี้ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

1

ด้าน .พิเศษ ทพญ.ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงที่มาของการจัดทำโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โดยระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสในปี 2546 ว่า คนเราเวลาไม่มีฟันนั้น กินอะไรไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข ใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะทันตแพทยศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆ

จัดทำโครงการฟันเทียมพระราชทานขึ้น ให้ประชาชนทุกสิทธิสามารถทำรากฟันเทียมได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกโรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนด้วย โดยนับตั้งแต่ปี 2548-2565 มีผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันทั้งปากได้ประมาณ 7.2 แสนคน

ศ.พิเศษ ทพญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของรากฟันเทียมนั้น มีจุดเริ่มต้นจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในปี 2546 เช่นกัน โดยในตอนนั้นทันตแพทย์ได้ถวายการรักษาพระทนต์แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยการใส่รากฟันเทียม และพระองค์ทรงพอพระทัยกับรากฟันเทียมนี้มาก ทรงรับสั่งว่า ฟันเทียมนี้ดีจริงๆ ดีกว่าฟันจริงของเราเสียอีก รวมทั้งมีพระราชปรารภต่อไปว่า ถ้าหากแม่ยังอยู่ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ก็อยากใส่ถวายแก่ท่าน เพราะระยะหลังๆ ท่านเสวยอะไรไม่ค่อยได้เพราะเจ็บฟันอยู่เสมอ อีกทั้งทรงรับสั่งต่อไปว่าถ้าหากครั้งนั้นเราใส่ถวายให้แก่ท่าน ท่านอาจมีพระชนมายุยืนยาวกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้

3

อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนั้นรากฟันเทียมยังมีราคาค่อนข้างสูง เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของพระองค์ท่าน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และคณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยและผลิตรากฟันเทียมขึ้นมาเองเพื่อใช้ในประเทศ และจัดทำเป็นโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ในปี 2550 โดยนำรากฟันเทียมที่ผลิตเองมาใช้ในโครงการนี้ ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้สูงอายุได้รับการฝังรากฟันเทียม 2 ราก จำนวน 18,400 ราย

ทั้งนี้ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสด็จขึ้นครองราชย์ และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” เพื่อเป็นการสนองพระราชโองการ มูลนิธิทันตนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข สปสช. และภาคีเครือข่าย จึงได้จัดทำโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา โดยเริ่มที่ผู้มีสิทธิบัตรทองซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และรากฟันเทียมในโครงการนี้ ก็เป็นรากฟันเทียมที่มูลนิธิทันตนวัตกรรมพัฒนาคุณภาพต่อยอดจากของเดิมให้ยึดติดกับกระดูกได้ดีขึ้น ใช้งานได้สะดวกขึ้น

3

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้นวัตกรรมรากฟันเทียมมีราคาแพงมาก จนเมื่อประเทศไทยสามารถผลิตรากฟันเทียมได้ในราคาที่ต่ำลง สปสช.จึงมีแนวคิดในการนำผลิตภัณฑ์นี้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา

ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิได้รับรากฟันเทียมในโครงการนี้ เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีความจำเป็นต้องใช้ฟันเทียมทั้งปากแต่เหงือกร่นจนไม่สามารถใช้ฟันเทียมได้ก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ลำบากที่สุดที่ไม่มีฟันในการบดเคี้ยวเลย แต่ไม่ได้หมายความว่า สปสช. ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่กลุ่มอื่นๆ ที่อาจต้องการฝังรากฟันเทียมแค่ 1 ซี่ เพียงแต่ในขณะนี้ขอเริ่มที่กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันทั้งปากและเหงือกร่นจนกระทั่งไม่สามารถใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ก่อน และจะขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ ในอนาคต

“ผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการบดเคี้ยว สามารถติดต่อไปยังหน่วยบริการที่มีทันตแพทย์ใกล้บ้านเพื่อขอรับคำปรึกษา หากทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องฝังรากฟันเทียมก็จะดำเนินการฝังรากฟันให้ หรือถ้าหน่วยบริการนั้นทำไม่ได้ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่สามารถทำได้ โดย สปสช.จะสนับสนุนในการจัดซื้อรากฟันเทียมนี้ให้ รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอกับความต้องการของโรงพยาบาล”นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330 หรือไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso

3