ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค หนุนบำนาญประชาชน แต่ต้องให้อย่างถ้วนหน้า ชี้ตัวเลข 3,000 บาทอาจไม่พอ แต่ยังดีกว่าเบี้ยคนชรา เผยพรรคไหนชนะเลือกตั้งควรทำเป็นกฎหมาย สร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าได้แน่


นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงนโยบายการสร้างสวัสดิการบำนาญผู้สูงอายุ หรือบำนาญประชาชน ที่พรรคการเมืองกำลังใช้หาเสียงอยู่ในขณะนี้ว่า บำนาญประชาชนสมควรจะเกิดขึ้นได้แล้ว และควรจะเป็นรัฐสวัสดิการที่ให้กับคนไทยทุกคนแบบถ้วนหน้า และที่สำคัญคือต้องมีการผลักดันให้เกิดเป็นกฎหมาย

ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดเป็นกฎหมายบำนาญประชาชนถ้วนหน้า จะช่วยให้สร้างความมั่นใจ รวมถึงเป็นหลักประกันรายได้ให้กับคนไทยได้อย่างแท้จริง อีกทั้ง หากรัฐบาลจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็ต้องทำให้เกิดเป็นกฎหมายให้ได้ ไม่ควรจัดทำเป็นนโยบายที่แค่หวือหวาเพียงชั่วคราว

นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยว่าตัวเลขบำนาญประชาชนที่เหมาะสม และพอจะทำให้ดำรงชีพได้ในปัจจุบันสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ควรต่ำกว่า 3,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ข้ามพ้นเส้นความยากจน และควรพิจารณาปรับขึ้นตามการแปรผันของเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบำนาญประชาชนเดือนละ 3,000 บาท อาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในบางพื้นที โดยเฉพาะเมืองใหญ่ต่างๆ แต่ก็ยังดีกว่าได้รับเบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ 600 บาทเหมือนกับที่รับอยู่ในปัจจุบัน

"แม้หลายพรรคการเมืองกำลังแข่งกันเรื่องนี้ แต่จากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ติดตามดู ก็พบว่ามีไม่กี่พรรคการเมืองที่เข้าใจ และให้ความกระจ่างจริงๆ ว่าจะบริหารอย่างไร นำเงินมาจากไหนเพื่อจัดทำเป็นบำนาญประชาชน นั่นคือพรรคก้าวไกล" นางบุญยืน กล่าว

ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนได้ต่อสู้เรื่องนี้มาตลอดกว่า 10 ปี และล่าสุดที่ได้ร่วมลงรายชื่อเพื่อเสนอให้เป็นกฎหมายบำนาญประชาชนถ้วนหน้าจากภาคประชาชนเอง แต่ก็ไม่ได้รับการใส่ใจจากรัฐบาล โดยเฉพาะการถูกตีความว่าเป็นกฎหมายการเงิน ที่ต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนาม แต่ที่ผ่านมานายกฯ ก็ไม่เคยลงนามเพื่อให้เข้าไปพิจารณากันในรัฐสภา ทั้งที่เป็นกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม เรื่องรัฐสวัสดิการในรูปแบบบำนาญประชาชน เป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศกำลังติดตาม จึงอยากให้พรรคการเมืองที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ออกมาให้คำสัญญากับประชาชนว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาล หรือชนะการเลือกตั้งแล้ว จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นกฎหมายบำนาญประชาชนให้ได้ แต่เท่าที่เห็นแม้ว่าพรรคการเมืองจะหาเสียงกันเรื่องนี้ แต่พรรคใหญ่ๆ ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงการบริหารจัดการ รวมถึงที่มาของงบประมาณในการจัดการด้วย ทำให้มองได้ว่าเป็นการสร้างความหวือหวาโดยใช้ประเด็นบำนาญประชาชนมาหาเสียงเท่านั้น