ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค สะท้อนความเห็นอยากให้รัฐบาลชุดต่อไปจัดระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ชี้ไม่ยุติธรรมสิทธิประกันสังคมยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อรักษาตัวเอง พร้อมย้ำพรรคการเมืองยังไม่ใส่ใจนโยบายสุขภาพอย่างจริงจัง


นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงข้อเสนอและความคาดหวังต่อนโยบายด้านสุขภาพจากรัฐบาลชุดใหม่ ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ระบบบริการสุขภาพในภาพรวมของประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาใดๆ เพราะที่ผ่านมาก็ได้พัฒนาระบบมาโดยตลอด แต่สิ่งที่เปรียบได้กับ ‘กับดัก’ ต่อการพัฒนาคือ ‘ความเหลื่อมล้ำในกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุน’ โดยเฉพาะกองทุนประกันสังคม ที่บริหารจัดการโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่ยังเป็นกองทุนเดียวที่ประชาชนยังต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล แตกต่างจากสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิสามารถรับบริการสุขภาพได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน

ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงสภาองค์กรของผู้บริโภคเอง ต้องการให้รัฐบาลชุดต่อไปได้ขับเคลื่อนเรื่องระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ซึ่งจะเป็นการรวมกองทุนทั้ง 3 กองทุน หรือจะไม่รวมแล้วแยกการบริหารกองทุนไปเลยก็ได้ แต่เรื่องของระบบสุขภาพ การรักษาพยาบาลก็ควรเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และต้องไม่ให้ประชาชนคนไทยต้องมาชำระเงินเองเหมือนกันกับทุกกองทุน

"สิทธิการรักษาพยาบาลของแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกัน อย่างเช่น สิทธิบัตรทอง และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ รักษาฟันได้ตลอดทั้งปี แต่สิทธิประกันสังคมกลับได้แค่ปีละ 1,200 บาท หรือแม้แต่นโยบายของรัฐบาลที่ระบุว่า ผู้เสพยาคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา แต่รักษาได้เฉพาะสิทธิบัตรทอง และสิทธิประกันสังคม ขณะที่สิทธิข้าราชการไม่ได้รับบริการในส่วนนี้ นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจน และทำให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้มีระบบสุขภาพที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเลย" ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว

นางบุญยืน กล่าวด้วยว่า ขณะที่ในช่วงนี้เป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง แต่ยอมรับว่ายังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนจะใส่ใจเรื่องนโยบายสุขภาพอย่างจริงจัง ซึ่งอาจเป็นเพราะแต่ละพรรคมุ่งเน้นเรื่องนโยบายปากท้องมากกว่าเรื่องนโยบายสุขภาพ เราจึงไม่เห็นว่าจะมีพรรคการเมืองไหนสนใจเรื่องนโยบายสุขภาพมาตรฐานเดียว

นางบุญยืน กล่าวอีกว่า ระบบบริการสุขภาพสำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง ต้องยอมรับว่ามีการพัฒนาไปไกลอย่างมาก เนื่องจากมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เป็นหน่วยงานบริการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่น่าสนใจคือมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกปี พร้อมกับนำความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพัฒนาปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ทางด้านสุขภาพให้กับประชาชน

"ขณะเดียวกัน อีก 2 กองทุนสุขภาพ คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม กลับไม่สนใจฟังเสียงความคิดเห็นของประชาชน จึงทำให้ทั้ง 2 กองทุนไม่มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ตามมา และไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน" นางบุญยืน กล่าว