ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม เปิดข้อมูล “ทันตกรรมรักษาไปรับบริการระดับปฐมภูมิที่ไหนก็ได้” ลดอุปสรรคใช้สิทธิ ช่วยผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าการรักษาตามสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมในระบบบัตรทอง ระบุข้อมูล ปี 2559 มีผู้รับบริการทันตกรรมรักษา 3.9 ล้านคน ปี 2562 เพิ่มขึ้นเกือบ 4.5 ล้านคน ระบุ รับบริการถอนฟันมากที่สุด รองลงมาเป็นบริการขูดหินน้ำลายและอุดฟัน เตรียมนำข้อมูลพิจารณาต่อยอดพัฒนาระบบบริการ 


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการติดตามการดำเนินงานด้านบริการทันตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หนึ่งในประเด็นที่นำเสนอคือ การจ่ายค่าบริการทันตกรรมรักษาไปหน่วยบริการประจำและปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ หรือ “บริการทันตกรรมรักษาไปรับบริการระดับปฐมภูมิที่ไหนก็ได้” ตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการสาธารณสุข การใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขในหน่วยบริการอื่นของผู้รับบริการกรณีที่มีเหตุสมควร (OP Anywhere) ตามนโยบายบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566”  

2

ทั้งนี้ บริการทันตกรรมพื้นฐาน อาทิ การถอนฟัน อุดฟัน และขูดหินน้ำลาย เป็นต้น เป็นบริการทันตกรรมรักษาในระดับปฐมภูมิ ซึ่ง สปสช. ได้ดำเนินการตามนโยบายบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการด้านทันตกรรมที่จำเป็นสำหรับประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า หลักเกณฑ์การให้ “บริการทันตกรรมรักษาไปรับบริการระดับปฐมภูมิที่ไหนก็ได้” จะต้องเป็นการให้บริการประเภทผู้ป่วยนอกสำหรับหน่วยบริการอื่นของผู้รับบริการกรณีที่มีเหตุสมควร เช่น เมื่อเกิดอาการปวดฟัน ฟันผุ หรือฟันมีหินปูนเกาะ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาก่อนลุกลาม โดยหน่วยบริการด้านทันตกรรมทุกระดับในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่มารับบริการได้ทุกคน แต่ในการเข้ารับบริการทุกครั้งหน่วยบริการต้องให้ผู้ป่วยพิสูจน์ตัวตนยืนยันการใช้สิทธิโดยใช้บัตรประชาชน เป็นการป้อนข้อมูลรับบริการเข้าสู่ระบบ สปสช.

ส่วนการเบิกจ่าย ค่าบริการทันตกรรมรักษา นั้น สปสช. กำหนดให้เป็นการเบิกจ่ายชดเชยตามรายการบริการ (Fee Schedule) โดยหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถบันทึกข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายค่าบริการผ่านระบบ e-Claim โดยอัตราค่าบริการทันตกรรมรักษาเป็นไปตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีการจ่ายตามรายการบริการ พ.ศ.2566 

3

การรับบริการทันตกรรมรักษาของประชาชนสิทธิบัตรทองพบว่ามีจำนวนผู้รับบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2559 มีผู้เข้ารับบริการจำนวน 3,967,279 คน ปี 2560 เป็นจำนวน 4,304,620 คนปี 2561 เป็นจำนวน 4,377,469 คนและในปี 2562 เพิ่มเป็นจำนวน 4,491,321 คน โดย 5 อันดับแรกของการเข้ารับบริการทันตกรรมรักษาที่มากที่สุด คือ บริการถอนฟัน บริการขูดหินน้ำลายทั้งปาก บริการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันด้านเดียว บริการเอกซเรย์ฟัน และทันตกรรมดิจิทัล  

“ข้อมูลที่ปรากฏนี้สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ในการไปรับบริการทันตกรรมรักษาไปรับบริการระดับปฐมภูมิที่ไหนก็ได้สามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมรักษาที่จำเป็นได้ ทั้งนี้แม้ว่าโรคฟันผุหรืออาการปวดฟัน จะดูเหมือนเป็นเพียงภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่หากไม่รับการรักษาก็อาจลุกลามและส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้ นโยบายนี้จึงช่วยตอบโจทย์การใช้สิทธิบัตรทองสามารถไปรับบริการทันตกรรมรักษาได้ทุกที่” ประธานคณะทำงานฯ กล่าว 

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ทางคณะทำงานฯ จะนำข้อมูลที่ได้นี้ รวมถึงข้อมูลการเข้าถึงบริการทันตกรรมในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ข้อมูลประชากรต่อการรับบริการ จำนวนหน่วยบริการ มาพิจารณาเพื่อพัฒนาระบบและเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมสำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองต่อไป 

3

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw