ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรพ. จับมือ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ลงนามเอ็มโอยูการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา ภาวะติดนิโคติน ด้วยกระบวนการ HA คิกออฟสร้างระบบการรักษาเลิกบุหรี่ในสถานพยาบาลอย่างเป็นระบบ


สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (เอ็มโอยู) การพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา ภาวะติดนิโคติน ด้วยกระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยมี พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. และ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่และประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เป็นตัวแทนองค์กรในการลงนามเอ็มโอยูดังกล่าว

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ สรพ. ต้องการให้สถานพยาบาลมีระบบคุณภาพระดับสากล และเรื่องบุหรี่เป็นประเด็นสากล องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศ Code of conduct for health professional on tobacco control ไว้ตั้งแต่ปี 2548 โดยมีข้อหนึ่งที่สำคัญมาก คือการซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ แล้วให้คำแนะนำในการเลิกบุหรี่ รวมทั้งการติดตามต่อเนื่องให้เลิกบุหรี่ให้ได้

1

อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเทศไทยนั้น WHO เคยเข้ามาประเมินสมรรถนะการควบคุมยาสูบของไทยและพบว่ายังมีจุดอ่อนอย่างมาก จึงแนะนำให้พัฒนาระบบบริการรักษาเลิกสูบหรี่ ด้วยเหตุนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง สรพ.จึงได้นำประเด็นเรื่องของนิโคตินและบุหรี่ เข้ามาใส่ไว้ในมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการ ฉบับที่ 5 โดยผนวกเรื่องการดูแลสุขภาพเรื่องบุหรี่เข้ามาใน Process of care ทั้งหมด ตั้งแต่การเข้าถึงบริการ การประเมิน การวินิจฉัย การดูแลรักษาและการดูแลต่อเนื่อง

“ในส่วนของมาตรฐานการประเมินผู้ป่วย เราได้ใส่เรื่องการซักประวัติการสูบบุหรี่เข้าไป รวมทั้งต้องวินิจฉัยภาวะติดนิโคติน จุดประสงค์เพื่อจะได้มีการบันทึกข้อมูลลงใน ICD-10 ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนการรักษาและการดูแลต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นประโยชน์ในเชิงสถิติและการประเมินผลระบบคุณภาพของโรงพยาบาล และนอกจาก Process of care แล้ว ก็ยังได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ในส่วนของการจัดทำกลยุทธ โดยผู้เยี่ยมสำรวจของ สรพ. จะดูว่ามีการกำหนดประเด็นการรักษาเลิกบุหรี่ในแผนกลยุทธองค์กรหรือไม่ ผู้บริหารให้ความสำคัญกับเรื่องนี้หรือไม่ รวมทั้งกำหนดไว้ในมาตรฐานบุคลากร ในเรื่องการลดละเลิกบุหรี่ของบุคลากรด้วย”พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ด้าน .เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และ ประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า การผนวกเรื่องการรักษาเลิกสูบบุหรี่เข้าไปในการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะที่ผ่านมาทางเครือข่ายพยายามผลักดันให้เรื่องนี้เป็น 1 ในตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุขแต่ก็ไม่สำเร็จ พอไม่เป็นตัวชี้วัด บุคลากรตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็ไม่อยากจะทำ หรือรู้สึกว่าเป็นงานฝาก งานพิเศษที่เพิ่มขึ้นมา

2

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่มีการบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลแล้ว หลังจากนี้ทางเครือข่ายจะต่อยอด โดยเก็บข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อนำไปหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการกำหนด incentive แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเลิกบุหรี่ต่อไป

“ความร่วมมือในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบของไทย สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ จะเป็นที่ปรึกษาในการส่งเสริมและสนับสนุนทีมวิทยากร องค์ความรู้ และหลักสูตรหรือแนวทางปฏิบัติให้กับ สรพ. และสถานพยาบาล การร่วมพัฒนามาตรฐานกลไกและกระบวนการพัฒนาและรับรองสถานพยาบาลเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูภาวะติดนิโคติน รวมทั้งจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้จากสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองในเวทีระดับต่างๆ ทั้งในประเทศและนานาชาติ” ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าว

ด้าน .เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อลดเด็กที่เข้ามาติดบุหรี่เป็นเรื่องที่ดีแต่จะได้ผลในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่หากจะลดอัตราการป่วยและการตายในอนาคตอันใกล้ จำเป็นต้องทำให้คนเลิกสูบบุหรี่

3

อย่างไรก็ดี ระบบการรักษาพยาบาลเพื่อให้คนเลิกบุหรี่ของประเทศไทยยังอ่อนแอมาก ปัจจุบันอัตราการเลิกบุหรี่สำเร็จมีเพียง 1-2 % เท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่สามารถเริ่มต้นได้เลยคือในกลุ่มคนสูบบุหรี่ที่เข้ามาที่โรงพยาบาลเป็นประจำ เช่น คนไข้ความดันสูงกับเบาหวานที่ยังสูบบุหรี่มีประมาณ 2.5 ล้านคน เป็นคนไข้ที่อยู่ในการดูแลของระบบสาธารณสุขอยู่แล้ว สามารถใช้โอกาสที่ผู้ป่วยเหล่านี้มารับบริการ ทำให้เลิกสูบบุหรี่ให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้มีสำคัญอย่างมากเพราะทำให้การรักษาภาวะติดนิโคตินมีความเป็นระบบเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลที่ต้องการขับเคลื่อนเรื่องนี้แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ตนแนะนำให้ใช้แนวทางเวชปฏิบัติการรักษาภาวะติดนิโคตินในประเทศไทย ซึ่งประกาศเมื่อปี 2565 มาเป็นไกด์ไลน์ โดยจะมีแนวปฏิบัติตั้งแต่การคัดกรอง การประเมิน การบำบัดรักษา และสุดท้ายคือการติดตามต่อเนื่อง โดยสถานพยาบาลที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเป็นไฟล์ PDF ได้ในเว็บไซต์ สสส. และจะเพิ่มในเว็บไซต์ของ สรพ. ในเร็วๆ นี้ด้วย

2