ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์เสนอนานาประเทศ ต้องเน้นสร้างระบบการตรวจวินิจฉัยโรคที่เข้าถึงได้โดยประชากรทุกกลุ่ม สร้าง “ยุคทอง” ของระบบสุขภาพที่ผู้คนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ลดภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพที่ไม่จำเป็น

แอน คอสเทลโล (Ann Costello) หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีวินิจฉัยโรค บริษัทโรช (Roche) ให้ความเห็นผ่านบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Politico ว่า การตรวจวินิจฉัยโรคสำคัญไม่แพ้การรักษาโรค เพราะสามารถบ่งบอกสถานการณ์สุขภาพ ช่วยในการตัดสินใจดูแลสุขภาพและป้องกันโรคของคนทุกคน

อย่างไรก็ดี การตรวจวินิจฉัยโรคยังไม่ถือเป็นบริการสุขภาพที่แพร่หลาย มีประชากรทั่วโลกกว่า 47% และประชากรในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง 81% ยังไม่สามารถเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยโรคที่จำเป็นต่อการกำหนดความเป็นความตาย

รายงานของ คณะกรรมการเดอะแลนเซท (Lancet) ซึ่งเป็นนิตยสารทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ระบุว่า การลงทุนขยายบริการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ช่วยลดความเสี่ยงที่จะวินิจฉัยโรคผิดพลาดในระยะรุนแรง

ทั้งยังช่วยให้การบริหารทรัพยากรทางการแพทย์ และการกำหนดรูปแบบการดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาได้ตรงจุด

การตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืนและเข้มแข็ง ลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มโรคเรื้อรังและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และช่วยควบคุมโรคติดต่ออย่างเชื้อเอชไอวี วัณโรค ตับอักเสบ และมาลาเรีย

คอสเทลโลจึงเสนอให้ประเทศและองค์กรที่เกี่ยวข้อง นำการวินิจฉัยโรคเข้าสู่วาระการพูดคุย โดยระบบสุขภาพในวันนี้และอนาคตต้องหันไปเน้นบริการการตรวจวินิจฉัยโรค แทนที่จะเน้นการรักษาที่ปลายทาง

หากทำได้สำเร็จ ก็จะถึง “ยุคทอง” ของระบบสุขภาพ ที่ผู้คนมีสุขภาพดี อายุยืนนาน ปราศจากโรคร้าย ขณะที่นานาประเทศจะสามารถบริหารจัดการทรัพยากรด้านสุขภาพได้อย่างยั่งยืน

องค์การอนามัยโลก (WHO) เล็งเห็นความสำคัญของการตรวจวินิจฉัยโรค โดยออกมติส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของระบบตรวจวินิจฉัยโรคเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยแนะนำให้รัฐบาลยกระดับนโยบายด้านนี้โดยเร่งด่วน รวมทั้งสร้างการเข้าถึงบริการตรวจวินิจฉัยโรคที่เท่าเทียมและทันเวลา

2

การตรวจวินิจฉัยโรคยังถูกบรรจุในวาระการพูดคุยในประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเน้นที่บทบาทของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการเพิ่มและกระจายบริการตรวจวินิจฉัยโรค

ในส่วนของบริษัทโรช คอสเทลโลระบุว่าบริษัทมีโครงการอบรมพัฒนาบุคลากรในห้องตรวจแลบในประเทศรายได้น้อยและปายกลาง รวมทั้งสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสร้างระบบตรวจวินิจฉัยโรค แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่ต้องการการแก้ไข

ยกตัวอย่างเช่น ยังมีความต้องการพัฒนาศักยภาพห้องแลบตรวจโรค และสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งปัญหาขาดแคลนบุคลากรยังคงเป็นความท้าทายที่แก้ไม่ตกในหลายประเทศ ทั้งยังขาดกฎระเบียบที่สนับสนุนให้เกิดการยกระดับห้องตรวจ

คอสเทลโลเสนอให้รัฐบาลทำมาตรการขยายจำนวนบุคลากรในห้องตรวจแลบ และบูรณาการแนวปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจาก คณะกรรมการหน่วยงานกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ระหว่างประเทศ (International Medical Device Regulators Forum) ซึ่งออกข้อแนะนำด้านการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องตรวจแลบ

เธอให้ความเห็นสรุปในตอนท้ายว่า การเดินไปสู่ยุคทองของระบบสุขภาพ มีความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้จากอดีต

ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในรอบสามปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นคุณประโยชน์ของการตรวจเจอโรคแต่เนิ่นๆ ซึ่งช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเป็นวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทเรียนอีกข้อที่สำคัญ คือการยกระดับระบบสุขภาพในระดับสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้นสามารถทำได้ หากมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และข้ามภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐและเอกชน

เช่นเดียวกับช่วงโรคระบาดที่นานาประเทศแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้การพัฒนาเครื่องมือตรวจเชื้อโควิดและวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการวางระบบการตรวจโรคที่มีประสิทธิภาพต่อการควบคุมโรคได้

หากยังคงรักษาความร่วมมือนี้ไว้ได้ คอสเทลโลเชื่อว่าการตรวจวินิจฉัยโรคที่จำเป็นจะขยายตัวครอบคลุมประชากรในทุกซีกโลก และสร้างโอกาสให้ผู้คนอีกมากมาย

อ่านบทความต้นฉบับ :
https://www.politico.eu/sponsored-content/putting-health-back-in-health-care/