ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายคนพิการ หนุนรัฐบาลชุดหน้าจัดอุปกรณ์เพื่อพัฒนาเด็กพิการทางสติปัญญาครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมชื่นชมบริการบัตรทองไม่มีใบส่งตัวช่วยคนพิการได้เยอะ หวังตั้งศูนย์คนพิการในรพ.สต.


นางพรสวรรค์ เมตตาประเสริฐ ตัวแทนเครือข่ายคนพิการทางสติปัญญา เปิดเผยกับ The Coverage ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันบริการด้านสุขภาพสำหรับคนพิการทางสติปัญญา โดยเฉพาะเด็กที่พิการ มีการพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกให้เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกับบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าใจถึงแนวทางการรักษา และส่งเสริม ดูแลด้านพัฒนาการของด็กพิการทางสติปัญญามากขึ้น อีกทั้ง คนพิการทางสติปัญญายังได้รับสิทธิการรักษาในหน่วยบริการข้ามเขต หรือในโรงพยาบาลใดก็ได้ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) โดยที่ไม่ต้องมีใบส่งตัว ซึ่งเป็นการเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเด็นที่ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองเด็กพิการทางสติปัญญา ที่เมื่อพาบุตรหลานเข้าไปรับบริการสุขภาพ แต่ยังพบว่าโรงพยาบาลยังไม่เข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของประชาชนสิทธิบัตรทอง รวมถึงประชาชนเองก็ยังไม่เข้าใจสิทธิอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาการเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล และนำไปสู่การร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหากมีการประชาสัมพันธ์ และทำการสื่อสารไปยังหน่วยบริการ โรงพยาบาล รวมถึงภาคสังคมกับประชาชนสิทธิบัตรทอง ถึงสิทธิประโยชน์ในบริการสุขภาพให้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างโรงพยาบาล และประชาชนได้

นอกจากนี้ ในส่วนรัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศ อยากให้เห็นความสำคัญต่อการลงทุนด้านอุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ การเรียนรู้ และด้านสุขภาพให้กับเด็กพิการทางสติปัญญา ให้ครอบคลุมทุกหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะอุปกรณ์การเรียนรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในโรงพยาบาลไม่เพียงพอและครอบคลุม ซึ่งส่งผลให้เด็กที่พิการทางสติปัญญาอยู่แล้ว ต้องขาดพัฒนาการที่จะได้ฝึกฝนในการช่วยเหลือตัวเอง หรือสามารถตัดสินใจกับเรื่องต่างๆ ได้ในชีวิตประจำวัน

"รวมไปถึงอยากให้รัฐบาล พิจารณาตั้งศูนย์ความพิการทางสติปัญญาในระดับชุมชน ที่ปัจจุบันมีเด็กพิการ รวมถึงคนพิการที่เป็นผู้ใหญ่กระจายตัวอยู่แทบทุกชุมชนทั่วประเทศ แต่ยังขาดศูนย์ที่จะดูแลพวกเขาอย่างเป็นระบบ โดยอาจเป็นศูนย์ช่วยเหลือคนพิการที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือรพ.สต. ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ รวมไปถึงเพิ่มบุคลากรจากคนในชุมชนเอง ที่จะดูแลคนพิการทางสติปัญญา รวมถึงประชาชนในชุมชนที่ต้องการการช่วยเหลือ เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งส่งผลให้เกิดการดูแลอย่างทั่วถึง และยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับชุมชนผ่านนโยบายทางด้านสุขภาพของรัฐบาลด้วย" นางพรสวรรค์ กล่าว