ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ชื่นชม กปท.เทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ กับการจัดโครงการรถโมบายสำหรับให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ สามารถตรวจคัดกรองส่งเสริม-ป้องกันเชิงรุกด้านสุขภาพช่องปากให้ผู้สูงอายุกว่า 400 รายย้ำ เป็นนโยบายสำคัญที่ สปสช. พยายามผลักดันให้แพร่หลายครอบคลุมทุกจังหวัด-ทุกช่วงวัย


เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สุรทิน มาลีหวล ผอ. สปสช. เขต 6 ระยองเยี่ยมชมบริการออกหน่วยรถโมบายสำหรับให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ เพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพช่องปากจากคลินิกทันตกรรมบางกอกสไมล์ ณ เทศบาลตำบลเทพารักษ์ (กปท. เทพารักษ์) จ.สมุทรปราการ โดยมีนายวชิรเชษฐ์ รุ่งธวัฒน์วงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลเทพารักษ์ ต้อนรับคณะ 

1
 
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากข้อมูลโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพในช่องปากที่ไม่ได้รับการรักษา และมีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น ซึ่งจากผลการสำรวจสภาวะทันตสาธารณสุขในปี 2560 พบว่า ร้อยละ 52.6 เป็นโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา ร้อยละ 36.3 เป็นโรคปริทันต์ และร้อยละ 16.5 เป็นรากฟันผุ นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มที่มีการสูญเสียฟันสูงที่สุด จากข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) ปี 2563 ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 40 เหลือฟันใช้งานไม่ถึง 20 ซี่
 
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาทมีบริการทันตกรรมที่มอบให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิบัตรทองทุกคน ทั้งการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ทาฟลูออไรด์-วาร์นิช เคลือบฟลูออไรด์ และการรักษาโรคปริทันต์ รวมถึงการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียม
 
“ปัญหาทันตกรรม ยังเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้สูงอายุยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทันตกรรม เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงบริการตรวจคัดกรอง ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่รู้ช่องทางที่จะสามารถเข้ารับบริการได้ตามสิทธิ และต้องเดินทางไกล รอคิวนาน คลินิกเอกชนก็มีราคาสูง สปสช.
จึงเข้ามาช่วยสนับสนุนท้องถิ่นให้จัดบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ
ซึ่งนอกจากในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลแล้ว ในอนาคตก็จะส่งเสริมให้จัดบริการลักษณะนี้ในต่างจังหวัดด้วย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

3

2
 
นายวชิรเชษฐ์ รุ่งธวัฒน์วงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลเทพารักษ์ เปิดเผยว่า ข้อมูลปัญหาสุขภาพ 
ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พบว่า ร้อยละ 2.8 หรือ 602 คน มีปัญหาโรคในช่องปาก ต่อมน้ำลาย และขากรรไกร นับเป็นลำดับที่ 5 ของปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อเป็นการดูแลและค้นหาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในช่องปากและฟันให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุในพื้นที่ เทศบาลตำบลเทพารักษ์จึงได้จัดทำ “โครงการคัดกรองและส่งเสริมสุขภาพช่องปากและฟันให้กับประชาชน” ดำเนินการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) เทศบาลตำบลเทพารักษ์

 “ต้องขอบคุณ สปสช. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ที่สนับสนุนและให้คำแนะนำ รถให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ ตรวจคัดกรองสุขภาพช่องปาก และเอกซเรย์ฟัน รวมถึงได้รับคำแนะนำการรักษาต่อที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุ ครั้งนี้มีกว่า 400 คน ที่มาตรวจสุขภาพช่องปาก ในอนาคตจะขยายไปยังประชาชนกลุ่มอื่นต่อไปอีกด้วย” นายก กปท. เทพารักษ์กล่าวกล่าว

2

ทพ.เสริมสกุล วงศ์ถิรพร กรรมการผู้จัดการคลินิกทันตกรรมบางกอกสไมล์ เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ปัญหาช่องปากของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของฟันผุ และปริทันต์ หากสามารถพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ การรักษาก็จะไม่ซับซ้อน ค่าใช้จ่ายก็จะไม่สูงมาก จึงเป็นที่มาที่ไปของการทำทันตกรรมเชิงรุก เพราะการที่ให้หมอไปหาแทนย่อมเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า ซึ่งโครงการนี้ได้นำร่องแล้วที่ สปสช. กรุงเทพฯ เขต 13 ที่มุ่งเน้นไปที่เด็กประถม ก่อนจะเริ่มกระจายออกมายังพื้นที่ใกล้เคียง
 
ทางด้านรถโมบายทันตกรรมเคลื่อนที่ถูกออกแบบมาเพื่อการทำทันตกรรมทั่วไป สามารถให้การรักษาคนไข้ได้ทุกประเภท เช่น การตรวจฟัน การขูดหินปูน อุดฟันและถอนฟัน รวมถึงบริการที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การรักษารากฟัน การผ่าฟันคุด และการทำฟันปลอม

2

3
 
ข้อจำกัดอยู่ตรงที่ต้องดูพื้นที่ที่ทำการให้บริการด้วย ถ้าหากเป็นพื้นที่ที่สามารถกลับไปทำการรักษาได้อย่างต่อเนื่องได้ก็จะสามารถทำทันตกรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้
 
“ตอนนี้ผู้มาใช้บริการในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นคนช่วง Baby boomer คือช่วง 50-60 ปีที่แล้ว 
ในสมัยนั้นจำนวนของหมอฟันไม่ได้เยอะมาก และกระจุกอยู่ในหัวเมืองใหญ่ ดังนั้นการเข้าถึงการทำฟัน
ก็จะน้อย เมื่อพบคุณหมอก็จะเป็นกรณีที่ค่อนข้างหนัก และจบลงด้วยการถอนฟัน ซึ่งการถอนฟันเป็นการรักษาแค่ช่วงแรกและมักจะมีปัญหาอื่นตามมา ที่สำคัญการถอนฟันทำให้จำนวนฟันลดลง เมื่ออายุมากขึ้นแต่สามารถบดเคี้ยวอาหารได้น้อยลง สารอาหารที่ได้รับไปจะน้อยลงตามไปด้วย สุดท้ายจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา” ทพ.เสริมสกุล กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw