ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

​เครือข่ายมะเร็งแนะรัฐบาลชุดต่อไป เพิ่มบุคลากรแพทย์รองรับหากจะลงทุนอุปกรณ์ เทคโนโลยีการแพทย์ ย้ำอยากเห็นลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน เผยผู้ป่วยมะเร็งประกันสังคม สิทธิยังไม่เท่าบัตรทอง


​น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง เปิดเผยกับ The Coverage ว่า การกำหนดนโยบายสุขภาพ รวมถึงสิทธิด้านสุขภาพต่างๆ จากรัฐบาลชุดต่อไปที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับเครือข่ายมะเร็ง มองว่า รัฐบาลควรกำหนดนโยบายสุขภาพที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และไม่เป็นภาระกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยที่ผ่านมามีหลายนโยบายสุขภาพที่ทำให้ภาระงานของแพทย์มากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการได้รับบริการของผู้ป่วย ซึ่งมองว่าเป็นการสร้างนโยบายที่ไม่ได้ทำให้ระบบสุขภาพมีความยั่งยืน
 
​อีกทั้ง การหาเสียงของหลายพรรคการเมืองในขณะนี้ พบว่าส่วนใหญ่มุ่งเน้นการจัดหาอุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีด้านการแพทย์ต่างๆ เพื่อรักษาสุขภาพให้กับคนไทย ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่มีการบริการที่ดีและทันสมัย แต่ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงการผลิตบุคลากรแพทย์ที่จะมาใช้เทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นด้วย เพราะปัจจุบันก็ยังดูเหมือนว่าขาดแคลน
 
​น.ส.ศิรินทิพย์ กล่าวด้วยว่า ยกตัวอย่างที่จะมีการซื้อเครื่องฉายรังสี หรือเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมเพื่อตรวจเต้านม ในการคัดกรองผู้ป่วยมะเร็ง หากมีเครื่องมือใช้ในทุกจังหวัด แต่ไม่มีแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ฟิสิกส์ หรือเจ้าหน้าที่ห้องแลป ที่ต้องผ่านการเรียน อบรมจนเชี่ยวชาญ ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการลงทุนที่ไมได้สร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพ และเป็นอีกโจทย์ที่รัฐบาลชุดต่อไปต้องพิจารณา
 
​ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง กล่าวด้วยว่า เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง ยังอยากให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพด้วย เพราะสิทธิด้านสุขภาพโดยเฉพาะกับของผู้ป่วยมะเร็ง ระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และกองทุนประกันสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำ
 
​"ทั้งการรักษา รวมถึงการได้รับยา ที่สิทธิบัตรทองจะดีกว่าสิทธิของประกันสังคม ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำ เพราะผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมที่จ่ายเงินสมทบทุกเดือนกลับไม่ได้รับยาที่มีคุณภาพ รวมถึงการเปลี่ยนไปใช้สิทธิบัตรทอง ผู้ป่วยสิทธิระกันสังคมก็ต้องรอถึง 6 เดือนถึงจะใช้สิทธิได้ ทำให้ขาดความต่อเนื่องของการรักษาโดยเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็ง" ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง กล่าว