ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบัน IHRI สะท้อนความเห็น "นโยบายสุขภาพ" ที่พรรคการเมืองใช้หาเสียง พุ่งเป้าใช้เทคโนโลยีเชื่อมระบบบริการ ย้ำต้องนึกถึงองค์ความรู้กลุ่มผู้สูงวัย เสนอทำ "เทเลเมดิซีน" เป็นบริการพื้นฐานทุกสิทธิ สางปัญหาการจัดสรรงบฯ ให้ผู้ติดเชื้อกลับมาเข้าถึงยา "เพร็พ-เป็ป" ได้ทุกสิทธิ


นพ.จักรภัทร บุญเรือง แพทย์นักวิจัย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เปิดเผยกับ The Coverage ถึงประเด็นนโยบายด้านสุขภาพ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง ระบุว่า ภาพรวมของการหาเสียงที่พรรคการเมืองใช้นโยบายด้านสุขภาพในการทำแคมเปญ ส่วนใหญ่จะพุ่งไปที่ประเด็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมการบริการสาธารณสุข ซึ่งเห็นได้จากที่หลายพรรคการเมืองต้องการต่อยอดและยกระดับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ผ่านการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ที่ใช้เป็นจุดเด่นในการหาเสียง 

ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นพรรคการเมืองหลายพรรค ต้องการผนวกเทคโนโลยีเข้ากับระบบบริการสาธารณสุข เพราะจะทำให้ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชน และยังทำให้ระบบการแพทย์มีความก้าวหน้าที่ชัดเจนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อยากเห็นระบบการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน กระจายการให้บริการไปทุกกองทุนสุขภาพ เพราะปัจจุบันยังคงให้บริการเพียงแค่ประชาชนสิทธิบัตรทองเท่านั้น

"เราอยากเห็นบริการเทเลเมดิซีน ถูกพัฒนาจากรัฐบาลให้เป็นบริการสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศไปเลย เพราะเป็นการพบแพทย์ผ่านมือถือที่มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพเทียบเท่ากับการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการ แต่จะดีกว่านี้หากมีการให้บริการไปทุกกองทุนสุขภาพ ทั้งสิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ" นพ.จักรภัทร กล่าว

นอกจากนี้ ยังอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาลดความแออัดในโรงพยาบาล เพราะยังมีคนส่วนมากที่อยู่พื้นที่ห่างไกล หรือต่างอำเภอ ที่เลือกจะเดินทางมารักษาตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลในตัวจังหวัด แม้ว่าจะเป็นการรักษาฟรีได้ทุกที่ตามสิทธิบ้ตรทอง แต่ก็ทำให้โรงพยาบาลมีความแออัดเพิ่มขึ้น ทั้งที่หน่วยบริการตามต่างอำเภอ รวมไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก็มีศักยภาพ มีแพทย์ที่ประจำอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นอีกโจทย์ที่รัฐบาลชุดต่อไปควรจะต้องแก้ไข หรือหาทางออกกับเรื่องนี้ 

นพ.จักรภัทร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับการบริการทางการแพทย์ ควรสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมารับบริการทางการแพทย์ด้วย เพราะแม้มีการพัฒนาระบบบริการด้วยเทคโนโลยีมากเท่าไร แต่หากประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังไม่รู้ถึงวิธิการใช้ และไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ เทคโนโลยีนั้นก็จะไม่มีประโยชน์ใดๆ

ขณะเดียวกัน ยังอยากเสนอให้รัฐบาลชุดต่อไปได้จัดการเรื่องการจัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ให้กับคนไทยทุกสิทธิอย่างจริงจัง และควรเป็นเรื่องแรกที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพราะในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ขณะนี้กำลังประสบปัญหาการเข้าถึงยาเพร็พ (PrEP) และยาเป็ป (PEP) ที่แต่เดิมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สิทธิกับคนไทยทุกคน แต่มีการปรับเปลี่ยนคำใหม่เป็นให้กับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ทำให้ผู้ติดเชื้อ HIV ที่ไม่อยู่ในสิทธิบัตรทอง ที่เคยรับยาทั้ง 2 ชนิดได้ทุกหน่วยบริการ ต้องไปรับยาตามหน่วยบริการตามสิทธิ ทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น และทำให้ขาดการเข้าถึงยาด้วย

"ปัจจุบัน ภาคประชาชน กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยติดเชื้อ HIV พยายามที่จะกระจายการเข้าถึงยาเพร็พ (PrEP) และยาเป็ป (PEP) ให้กับคนไทยทุกคน แต่ก็ทำได้ไม่ทั่วถึงเนื่องจากติดขัดงบประมาณ และขับเคลื่อนด้วยทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลชุดต่อไปควรมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง" นพ.จักรภัทร กล่าว