ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมฟ้าสีรุ้งฯ หวังรัฐบาลชุดหน้าเลิกตีตราคนติดเชื้อ HIV สร้างระบบบริการสุขภาพแบบ ‘หนึ่งเดียว’ แนะต้องให้น้ำหนักงบส่งเสริม-ป้องกันโรค เท่าเทียมงบประมาณการรักษาพยาบาล


นายธีรศักดิ์ ประสานพิม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักระบบบริการสุขภาพ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงข้อเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อจัดทำนโยบายสุขภาพ โดยระบุว่า อยากเห็นรัฐบาลชุดต่อไปที่เข้ามาบริหารประเทศ ให้ความสำคัญกับปัญหาการตีตราบุคคลในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่หลากหลายทางเพศที่ถูกกระทำมาหลายสิบปี และกลุ่มคนที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่ยังมีการเลือกปฏิบัติ รวมถึงถูกละเมิดสิทธิจากภาครัฐเองด้วย

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างการสอบเข้ารับราชการ ปัจจุบันยังให้ตรวจเลือดหาเชื้อ HIV โดยหากพบว่ามีเชื้อก็จะไม่รับเข้าเป็นข้าราชการ แต่ในทางกลับกัน เมื่อเป็นข้าราชการ และตรวจพบเชื้อภายหลัง ก็ไม่ถูกไล่ออก ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิอย่างชัดเจน และที่น่าเสียใจคือเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนจากภาครัฐเองด้วย

“ปัจจุบันคนติดเชื้อ HIV สามารถมีลูกได้ สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่งงานได้ด้วย หากว่ามีวินัยในการกินยา แต่ทั้งหมดกลับถูกตีตราเหมือนเดิม เหมือนเมื่อ 40 ปีก่อน ทั้งที่คนเหล่านี้มีศักยภาพที่ทำงานได้ และดำรงชีวิตได้เหมือนกับคนปกติ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นได้เลยว่า แม้ยา หรือเทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากแล้ว แต่การตีตรากลับไม่พัฒนาตามไปด้วย” นายธีรศักดิ์ กล่าว

นายธีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า หลายพรรคการเมืองทำนโยบายสุขภาพเพื่อหาเสียง แต่พบว่าส่วนใหญ่มุ่งมายังเรื่องของการบริการสาธารณสุข แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบบริการ ที่ต้องให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนใส่ใจอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบบริการสุขภาพของกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) สิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก ยกตัวอย่างสิทธิบัตรทอง ที่มีระบบบริการที่รุดหน้า และดีมาก แต่ขณะเดียวกันยิ่งดีมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นตาม

“ประชาชนสิทธิบัตรทองเมื่อปวดหัว เป็นไข้ สามารถไปพบแพทย์ได้เลย ที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ที่เป็นเครือข่ายสิทธิบัตรทอง หรือแม้แต่ใช้บริการการแพทย์ทางไกลก็ได้ด้วย แต่สำหรับผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมกลับแตกต่าง ต้องแจ้งลางาน เดินทางไปพบแพทย์ และเสียเวลาทั้งวันอยู่ที่โรงพยาบาล” นายธีรศักดิ์ กล่าว

นายธีรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากมีการรวมกองทุนทั้ง 3 กองทุนเป็นหนึ่งเดียว จะช่วยให้มีการจัดระบบบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกันได้ทั้งหมด และทำให้คนไทยสามารถใช้บริการสาธารณสุขต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม

นอกจากนี้ ยังอยากเห็นรัฐบาลชุดต่อไป ใส่ใจเรื่องการจัดสรรงบประมาณสำหรับการส่งเสริมป้องกันโรค ให้เท่าเทียมกับงบประมาณการรักษาพยาบาล เพราะการส่งเสริมการป้องกันก่อนที่จะมีโรค หรือมีอาการเจ็บป่วย ก็จะช่วยประเทศประหยัดงบประมาณไปได้ และเห็นควรที่ต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง