ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศยุโรปรับรองปฏิญญาใหม่ เร่งแก้ไขวิกฤตบุคลากรด้านสุขภาพ เน้นสร้างสวัสดิภาพการทำงานที่ดี จูงใจให้บุคลากรอยู่ในตำแหน่งงานระยะยาว และส่งเสริมการลงทุนในด้านการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและความสามารถ

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภาคพื้นยุโรป มีเสียงส่วนมากรับรอง “ปฏิญญาบูราเคสต์ (Bucharest Declaration)” ซึ่งเปรียบเสมือนการให้คำมั่นสัญญาของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ในการยกระดับการดูแลบุคลากรด้านสุขภาพ พร้อมประกาศว่าจะทำหน้าที่ปกป้อง สนับสนุน และลงทุนในระบบสุขภาพ เพื่อให้บุคลากรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โดยมีประเทศสมาชิก 49 จาก 53 ประเทศจากทวีปยุโรปและเอเชียกลางที่ให้การรับรอง ในระหว่างการประชุมประเทศสมาชิกที่ประเทศโรมาเนียในระหว่างวันที่ 22-23 มี.ค. มีผู้เข้าร่วมการประชุมมากว่า 300 คน รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพ สหภาพแรงงานด้านสุขภาพ และตัวแทนบุคลากรด้านสุขภาพจากหลายประเทศ

“วิกฤตบุคลากรสุขภาพในยุโรป ไม่ได้เป็นเพียงคำเตือนอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงแล้วในตอนนี้ โรงพยาบาลและบุคลากรทั่วภูมิภาคของเรากำลังต้องการความช่วยเหลือ” นพ.ฮานส์ คลัก (Hans Kluge) ผู้อำนวยการองค์กรอนามัยโลกภาคพื้นยุโรปกล่าว

“โรคระบาดโควิด-19 เผยให้เห็นความเปราะบางของระบบสุขภาพ และความสำคัญของการมีบุคลากรสุขภาพที่ปรับตัวผ่านวิกฤติได้ เราไม่สามารถรอได้อีกแล้ว เราต้องตระหนักถึงปัญหาต่างๆที่ประสบโดยบุคลากร เพราะพวกเขาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคมที่มีความเป็นอยู่ที่ดี”

ในช่วงปีที่ผ่านมา บุคลากรด้านสุขภาพในประเทศยุโรปได้รวมตัวกันประท้วงหลายครั้ง เพื่อเรียกร้องให้นักทำนโยบายและรัฐบาลแก้ไขปัญหาภาระการทำงานหนัก และการขาดแคลนทรัพยากรในระบบสุขภาพ

1

ในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา แพทย์และพยาบาลทั่วประเทศฝรั่งเศสมากกว่า 100,000 คน รวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องสวัสดิการการทำงานที่เป็นธรรม เช่นเดียวกับในประเทศไอร์แลนด์ พยาบาลกว่า 6,000 คน รวมตัวในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าแรงต่ำและสภาพการทำงานที่โหดร้าย

ด้านประเทศเยอรมนีและสหราชอาณาจักรเองก็มีแพทย์และพยาบาลออกมาประท้วงเช่นกัน ส่งผลให้ระบบสุขภาพประสบปัญหาความชะงักงันอยู่หลายเดือน

“การแสดงออกนี้สะท้อนความไม่พอใจและความกังวลของบุคลากรด้านสุขภาพทั่วภูมิภาค ทั้งยังทำให้เห็นความจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน และลงทุนในด้านทรัพยากรบุคคลในอุตสาหกรรมการแพทย์” นพ.คลัก กล่าวเพิ่มเติม

รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้วแสดงความกังวลว่า วิกฤตบุคลากรด้านสุขภาพเป็น “ระเบิดเวลา” ที่กำลังคุกคามระบบสุขภาพของประเทศยุโรปและเอเชียกลาง โดยเฉพาะเมื่อประชากรเริ่มแก่ตัว เช่นเดียวกับบุคลากรด้านสุขภาพที่ทยอยเกษียณอายุตามๆ กันไป

สถิติขององค์การอนามัยโลก ชี้ว่า ใน 13 จาก 44 ประเทศในภูมิภาคที่ทำการสำรวจอายุของบุคลากรด้านสุขภาพ พบว่ามีแพทย์เป็นอัตราส่วน 40% ที่มีอายุอย่างน้อย 55 ปี ตลาดแรงงานยังมีความผันผวน มีอัตราการเข้าออกงานสูง ระบบสุขภาพไม่สามารถจูงใจแรงงานรุ่นใหม่ให้อยู่ในระบบระยะยาว

นอกจากนี้ อัตราการเป็นโรคเรื้อรังก็สูงขึ้น พร้อมกับยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนมีความต้องการการดูแลด้านสุขภาพมากและหลากหลาย และคาดหวังจะได้บริการที่ดีขึ้น ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลต่อความเจ็บป่วยของประชากร

รายงานชิ้นเดียวกันเตือนว่าหากยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ จะส่งผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพของประชากรอย่างแน่นอน

3

ผลกระทบที่ว่านี้เป็นที่ประจักษ์ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งบุคลากรด้านสุขภาพจำนวนมากเครียดและหมดไฟจากการทำงานหนัก ในช่วงการระบาดระลอกแรกเดือน มี.ค. 2563 พบว่าบุคลากรในประเทศในยุโรปและเอเชียกลางขอลาพักงานเพิ่มขึ้นถึง 62%

พยาบาลในบางประเทศกว่า 80% มีปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากสถานการณ์โรคระบาด ในภาพรวมทั่วภูมิภาค พบว่า 9 ใน 10 ของพยาบาลมีความคิดลาออกจากงาน

ปฏิญญาบูคาเรสต์จึงเกิดขึ้น เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองแก้ไขวิกฤตบุคลากรด้านสุขภาพ เช่น ปรับปรุงระบบการรับบุคลากรเข้าทำงาน สร้างแรงจูงใจให้อยู่ในตำแหน่งงาน ทำแผนการดูแลสวัสดิภาพบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลงทุนในด้านการพัฒนาบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับการศึกษา และการพัฒนาทักษะ โดยต้องรับฟังเสียงของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความเห็นจากบุคลากรด้านสุขภาพ

พญ.นาตาชา แอซโซพาร์ดิ มัสแคท (Natasha Azzopardi Muscat) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและระบบสุขภาพ องค์การอนามัยโลกภาคพื้นยุโรป ให้ความเห็นว่าทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงบทบาทของบุคลากรด้านสุขภาพ ในฐานะ “กระดูกสันหลัง” ของระบบสุขภาพ

“การสนับสนุนบุคลากร จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าขึ้นสู่สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน ทั้งยังเตรียมพร้อมประเทศให้รับมือสภาวะฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้ระบบสุขภาพเข้มแข็ง สามารถให้บริการสุขภาพได้ในทุกวัน” พญ.มัสแคทกล่าว

อ่านข่าวต้นฉบับที่
https://reliefweb.int/report/world/health-workforce-crisis-europe-no-longer-looming-threat-it-here-and-now-bucharest-declaration-charts-way-forward