ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดสงขลา ได้จัดงานเปิดตัวศูนย์บริการสุขภาพชุมชน คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง หาดใหญ่ โดยมี นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายแพทย์รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 12 สงขลา เภสัชกรหญิงวิไลวรรณ  สาครินทร์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา นายแพทย์ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ ผู้แทนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ผู้แทนจากสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ผู้แทนจากองค์การ แฟมิลี่ เฮลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (FHI 360) คณะทำงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา คณะทำงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหาดใหญ่ คณะทำงานจากโรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมเครือข่ายงานด้านเอดส์เข้าร่วมแสดงความยินดีในการจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพชุมชน คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง หาดใหญ่ และในวาระครบรอบ 23 ปี ของสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนการดำเนินงานทั้งด้านงบประมาณและด้านองค์ความรู้แก่คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง หาดใหญ่ มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558

1

2

ในงานมีการนำเสนอทิศทางการดำเนินงาน และร่วมรับฟังนโยบายการบูรณาการการร่วมจัดบริการสุขภาพระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ และทุกภาคส่วนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “The Community Goes Beyond ถอดรหัสหาดใหญ่โมเดล: ผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคประชาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม สู่การแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างยั่งยืน” อันจะเป็นการประชาสัมพันธ์ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่เป็นศูนย์กลางของการจัดบริการด้านสุขภาพตามรูปแบบการจัดบริการที่นำโดยกลุ่มประชากรหลัก (Key Population-Led Health Services: KPLHS) โดยเจ้าหน้าที่ชุมชนที่ผ่านการอบรมและได้รับการรับรองจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมุ่งเน้นผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง โดยปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ

2

4

การเปิดคลินิกเทคนิคการแพทย์แห่งใหม่นี้มีส่วนสำคัญในการยุติปัญหาเอดส์ของจังหวัดสงขลา โดยสามารถให้บริการแก่กลุ่มประชากรหลักของจังหวัดสงขลาได้มากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาวะทางเพศอย่างมีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้รับบริการในคลินิกจากปีละ 3,500 ราย เป็น 6,000 รายต่อปี

2

2