ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รอง ผอ.รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จับมือ สปสช. ผลักดันสิทธิ 'ทำลูกตาเทียมเฉพาะบุคคล' เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วย


นพ.วรภัทร วงษ์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ‘การทำลูกตาเทียม’ สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็น ได้รับการบรรจุอยู่ในชุดฃสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แต่ปัจจุบันครอบคลุมเฉพาะลูกตาเทียมที่เป็น ‘พิมพ์เดียว’ กันทั้งหมด ซึ่งยังไม่เหมาะสมกับโครงหน้าของแต่ละบุคคลที่สวมใส่ เนื่องจากขนาดของเบ้าตา และรอยแผลของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยทางแก้คือต้องมีการทำลูกตาเทียม ‘เฉพาะบุคคล’ ขึ้นมา

นพ.วรภัทร กล่าวว่า การทำลูกตาเทียมแบบพิมพ์เดียวนั้นส่งผลเชิงสุขภาพต่อผู้ป่วยด้วย เพราะลูกตาเทียมที่ไม่พอดีจะทำให้เกิดการอักเสบ เจ็บปวดบริเวณเบ้าตา และดวงตา เมื่อใช้งานไปในระยะยาว อีกทั้งยังส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบดวงตาได้รับความเสียหาย และทำให้การรักษา ซ่อมแซมเป็นไปได้ยากด้วย

นพ.วรภัทร กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กำลังศึกษาร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อพัฒนาให้การทำลูกตาเทียมเฉพาะบุคคล บรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยบัตรทองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ สามารถหล่อพิมพ์ลูกตาเทียมขึ้นมาจากลูกตาจริงอีกข้างของผู้ป่วยได้ ซึ่งจะเป็นลูกตาเทียมแบบเฉพาะบุคคลที่เหมาะสมที่สุด เมื่อลูกตาเทียมมีขนาดที่เข้ากันกับเบ้าตา ก็ทำให้ผู้ที่ใช้งานไม่ต้องถอดออก และสามารถนอนหลับพักผ่อนไปพร้อมกับลูกตาเทียมได้เลย" รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าว

นพ.วรภัทร กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้สิทธิการทำลูกตาเทียมเฉพาะบุคคล ยังจำกัดอยู่ในสิทธิของข้าราชการ โดยเบิกจ่ายได้ประมาณ 5,000 บาท ซึ่งหากว่ามีการบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของสิทธิบัตรทอง ก็จะช่วยประชาชนที่จำเป็น และให้ได้รับลูกตาเทียมที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยสามารถใช้เกณฑ์เดียวกับสิทธิข้าราชการได้