ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และอดีตนักวิจัยแลกเปลี่ยน (Research Fellow) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)

“ผมมองไม่เห็นทางอื่น นอกจากปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ ถ้าจะไปอย่างเต็มสูบ ไม่รื้อระบบภาษีครั้งใหญ่ ผมไม่คิดว่าจะทำได้ ทั้งหมดนี้เพื่อปูทางไปสู่แนวคิดที่ว่า ทุกคนจะต้องมีหลักประกัน ถ้ารัฐยังไม่มีกำลัง ก็ต้องมีการร่วมจ่าย ... การเมืองประชาธิปไตยมันช่วยแน่ ๆ” - คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สัมภาษณ์เมื่อ 13 มกราคม 2565 *

“ที่ผ่านมาคนรวยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนส่วนใหญ่ของประเทศน้อยเกินไป คนกลุ่มนี้ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากคนในชาติ หากเราสามารถคำนวณ Effective Tax Rate ของคนรวยได้ เราน่าจะเห็นช่องทางในการเก็บภาษีได้อีกมาก” – คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สัมภาษณ์เมื่อ 22 ธันวาคม 2564 *

* สัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในโครงการวิจัย “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) คือ ระบบหรือมาตรการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยเหลือให้สามารถป้องกันความเสี่ยงจากเคราะห์ร้าย (contingencies) ช่วยคุ้มครองไม่ให้กลายเป็นคนยากจน โดยสำหรับผู้สูงอายุ คือ เครื่องมือที่จะช่วยโอบอุ้มสังคมไทยจากความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตความยากจนในคนจนสูงวัย

2

หากพิจารณาหลักวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณะ เพื่อจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีสาระสำคัญคือ การถ่ายโอนทรัพยากร ทำให้สังคมโดยรวมมีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราควรที่จะพิจารณา “ความมีประสิทธิภาพ” และ “การกระจายอย่างเป็นธรรม” โดย “ความมีประสิทธิภาพ” ของการใช้งบประมาณ เราควรจะคำนึงถึงผลตัวทวีคูณ (multiplier effect) และการคุ้มครองความยากจน (poverty protection) ในขณะที่ “การกระจายอย่างเป็นธรรม” สามารถเป็นเครื่องมือบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ งานวิจัยนานาชาติแสดงให้เห็นว่า การลดความเหลื่อมล้ำ จะมีผลทางบวกต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วกว่า และ ช่วยให้สังคมมีความปรองดอง ดังนั้น การใช้งบประมาณเพื่อสร้างความคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุ จึงสมเหตุผลทางหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่เป็นภาระงบประมาณ

ยิ่งไปกว่านั้น หลักพื้นฐานด้านภาษีอากรประการหนึ่ง คือ ความเป็นธรรมในแนวดิ่ง (vertical equity) หมายความว่า ผู้ที่มีโอกาสและทรัพยากรมากกว่า ควรจะเป็นผู้เสียภาษีมากกว่ากลุ่มที่มีโอกาสและทรัพยากรน้อยกว่าตามสัดส่วน แต่ความเป็นจริง คือ คนรวยมีโอกาสได้รับการยกเว้นลดหย่อนภาษีมากมาย และเสียภาษีในอัตราที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับมนุษย์เงินเดือน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัยทำงานจำนวนมากจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ก็ได้ร่วมจ่ายภาษีจากการบริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้า ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีศุลกากร ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ภาษีเครื่องดื่ม ภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาษีรถยนต์ ภาษีรถจักรยานยนต์ ภาษีแบตเตอรี่ ภาษีสุราและยาสูบ เป็นต้น

คนจำนวนมากที่สามารถเรียนจบได้สูงสุดเพียงแค่มัธยมต้น เพราะเติบโตในพื้นที่โรงเรียนขาดแคลนครูตั้งแต่ปฐมวัย ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อขึ้นไปได้ ต้องทำงานเป็นแรงงานราคาถูก ขยันอดทนทำงานตลอดชีวิตจนเกษียณไม่สามารถลืมตาอ้าปาก เพราะทุนชีวิตทางเศรษฐกิจมีจำกัด มีรายได้เติบโตไม่ทันค่าครองชีพ

การพิจารณาความคุ้มครองทางสังคมและการลงทุนในคุณภาพชีวิตของคนไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบรวยกระจุกจนกระจาย และความเป็นธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คำถามท้าทายท้าทายศีลธรรม คือ คนที่ไม่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและไม่ได้เสียภาษีเงินได้ เช่น หญิงตั้งครรภ์ แม่บ้านที่อยู่บ้านดูแลลูกเล็ก คนพิการตั้งแต่กำเนิด คนประสบอุบัติเหตุจนพิการ และ คนชรา เราควรจัดสรรให้ได้รับประโยชน์จากภาษี เพื่อสวัสดิการและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือ จะปล่อยให้พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิตอนาถา

3

แน่นอนว่า ในที่สุดแล้ว ระบบบำนาญแห่งชาติ จะต้องมีระบบที่จูงใจให้รับผิดชอบมีการออมเงินในช่วงวัยทำงาน แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสตั้งแต่เกิด ก็ควรจะต้องมีระบบรองรับ ไม่ให้เป็นคนยากจนอนาถา ซึ่งประเทศไทยควรจะมีเป้าหมายตัวอย่างที่ดีแบบหลายประเทศในยุโรป หรือ ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการที่มาจากหลักการพื้นฐานของ “การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข”

ในที่สุดแล้วเราควรที่จะส่งเสริมแนวคิดที่ถูกต้องเรื่องสวัสดิการ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความคุ้มครองทางสังคมที่ประชาชนพึงได้รับ เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง และ เป็นการ “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” ในสังคม ไม่ใช่การสงเคราะห์คนจน

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ประเทศไทยสามารถมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง เป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของประเทศได้รับการยกย่องในระดับโลก ดังนั้น หลังยุคสมัยแห่งความท้าทายของวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยก็ควรจะมีการสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ เป็นหลักประกันความคุ้มครองทางสังคมในผู้สูงอายุ โดยมีการบริหารจัดการทางการคลังที่มีความเพียงพอและยั่งยืน

แหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ คือ

ก. การปฏิรูปภาษี โดยใช้เป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำและมีรายได้รัฐสำหรับงบประมาณเพิ่มความคุ้มครองความยากจนในผู้สูงอายุ

ข. การปฏิรูปงบประมาณ ทำให้การใช้จ่ายมีประสิทธิภาพมุ่งเป้าการใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน

ค. ระบบการออม สามารถครอบคลุมทุกคนในวัยทำงาน โดยออกแบบให้ทุกคนต้องอยู่ในระบบ หรือ ผู้ที่ไม่ต้องการอยู่ จะต้องสมัครเพื่อที่จะออกจากโครงการ