ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการอุทธรณ์ สปส. พิจารณาคืนสิทธิให้ผู้ประกันตน มาตรา 39 ในระบบประกันสังคม ที่ขาดจ่ายสมทบ เพราะได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19


นายอาทิตย์ อิสโม ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 ตอนหนึ่งว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา สถานประกอบการหลายแห่งถูกปิดกิจการชั่วคราวจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ลูกจ้างได้รับผลกระทบ เกิดความขัดสนเรื่องการเงิน ผู้ประกันตนหลายรายขาดส่งเงินสมทบ จึงเป็นสาเหตุให้ต้องหลุดออกจากระบบประกันสังคม โดยที่ผ่านมามีผู้ประกันตนได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์เข้ามาให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาสูงถึง จำนวน 7,786 ราย และคณะกรรมการอุทธรณ์ชุดนี้ได้มีคำวินิจฉัยเสร็จสิ้นไปแล้ว จำนวน 6,610 ราย

นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือน หรือภายใน 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ทำให้ผู้ประกันตนสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนนั้น ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 15 ม.ค. 2566 พบว่า มีผู้ประกันตนมาตรา 39 ขาดส่งเงินสมทบและสิ้นสภาพผู้ประกันตนจำนวน 888 ราย

ทั้งนี้ คณะกรรมการอุทธรณ์ ได้เห็นความสำคัญจึงได้หาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยปรับปรุงระเบียบข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนได้มีสิทธิพึงมีพึงได้ โดยกำหนดให้เลขาธิการ สปส.สามารถให้อำนาจประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขา ใช้ดุลยพินิจในการอนุมัติคืนสิทธิ์ให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดส่งเงินสมทบ และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาใช้สิทธิของสำนักงานประกันสังคมได้เหมือนเดิม

นอกจากการคืนสิทธิ์ให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 แล้ว การปรับปรุงระเบียบข้อกฎหมายของคณะกรรมการอุทธรณ์ สปส. ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในการช่วยเหลือและสร้างหลักประกันให้แก่สมาชิกของกองทุนประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนและบุคคลในครอบครัวได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีอื่นๆ ทั้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร พิการหรือทุพพลภาพ ว่างงาน ชราภาพ หรือ เสียชีวิต เป็นต้น รวมทั้งจะเป็นการขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป