ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อุปนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ยืนยัน สถานพยาบาลมีเพียงพอให้บริการ ‘ฟอกเลือด’ หลัง 1 ก.พ. 65 สปสช. ให้สิทธิคนไข้ไตวายเรื้อรังบัตรทองตัดสินใจร่วมกับแพทย์ มีคนต้องการมากขึ้นกว่า 30%


นพ.สุชาย ศรีทิพยวรรณ อุปนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายหลังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีนโบายให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไต (ล้างไต) ร่วมกับแพทย์ได้ ทำให้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จนอาจทำให้เกิดความแออัดในบางพื้นที่ ซึ่งสถานพยาบาลในเขตเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นมีเพียงพอต่อการรองรับ ส่วนในบางจังหวัดอาจยังมีปัญหาอยู่บ้าง จึงขอแนะนำว่าให้ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง โดยสามารถเลือกการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) ได้ซึ่งผลการรักษาไม่แตกต่างจากการฟอกเลือด และไม่มีค่าใช้จ่ายของค่าเดินทางที่ต้องเสียในกรณีที่ต้องเดินทางไปฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

รวมถึงทาง สปสช. ก็ได้เห็นถึงภาวะความหนาแน่นของผู้ที่ต้องการรับการรักษาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จึงมีการสนับสนุนให้มีสถานพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นในการผ่าตัดทำเส้นเลือดถาวร และสร้างเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลรัฐ เพื่อที่จะลดขั้นตอนที่ประชาชนต้องไปรอคิวรักษาจากโรงพยาบาลให้มากที่สุด

นพ.สุชาย กล่าวต่อไปว่า ส่วนในความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยตนเอง ขอยืนยันว่าประเทศไทยมีองค์ความรู้ในวิธีการล้างไตทางช่องท้องเป็นอย่างดี อีกทั้งเครื่องมือที่ใช้ก็มีคุณภาพมาตรฐานและได้รับยอมรับในระดับโลก ตลอดจนทาง สปสช. ก็ได้ให้สิทธิการรักษานี้แก่คนสิทธิบัตรทองมากว่า 16 ปีแล้วด้วย เพราะฉะนั้นจึงมั่นใจได้แน่นอน

“อย่างไรก็ตามอยากให้ประชาชนเข้าใจว่าการฟอกเลือดและการล้างไตไม่มีวิธีไหนดีกว่ากัน เพียงแต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับตัวผู้ป่วย ซึ่งพิจารณาจากโรค และคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ป่วยเป็นหลัก เช่น ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากสถานพยาบาล ไม่สะดวกในการเดินทางมารับการรักษา ก็ควรได้รับการล้างไตผ่านช่องท้องที่สามารถทำด้วยตนเองได้ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาทางช่องท้อง จากปัจจัยต่างๆ กลุ่มนี้ก็ควรที่จะได้รับการฟอกเลือด” นพ.สุชาย ระบุ

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่มีภาวะไตวายเรื้อรัง และจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต มีสิทธิรับการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการรักษา ทั้งหมด 4 วิธีด้วยกัน ประกอบด้วย 1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 2. การล้างไตผ่านช่องท้อง ที่ผู้ป่วยสามารถทำได้เอง 3. การล้างไตผ่านช่องท้อง โดยใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) และ 4. การปลูกถ่ายไต กรณีที่มีคนบริจาคไต

อุปนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า แม้ไทยจะมีระบบบริการสุขภาพและสิทธิการรักษาที่รองรับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ไม่ใช่การรักษา เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลในกรณีนี้มีราคาที่สูงมาก ซึ่งทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้พยายามสื่อสารแนวปฏิบัติต่างๆ ให้กับประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ ในการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดโรคไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง 

รวมถึงปัจจัยที่สำคัญมากไม่แพ้กันก็คือ การใช้ยาโดยไม่ปรึกษาเภสัชกร ที่ผ่านมาพบว่าไตของผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเกิดการเสื่อมไปเพราะพิษของยาที่ทาน เช่น ยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน ยาชุด หรือแม้กระทั่งยาแก้ปวด ซึ่งเมื่อเป็นแล้วมักจะรู้ตัวอีกทีก็คืออาการเริ่มเด่นชัดขึ้น และนั่นหมายถึงภาวะของไตเสื่อมไปถึงระยะสุดท้ายแล้ว