ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.มะเร็งอุดรธานี กรมการแพทย์ พัฒนานวัตกรรม "หุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด" เทคโนโลยีแห่งอนาคต แม่นยำสูง ถูกต้อง ปลอดภัย พร้อมต้นแบบการส่งยาไปยังโรงพยาบาล ในเขตสุขภาพที่ 8


นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประชาชนไทยและทั่วโลก การเข้าถึงบริการและรับการรักษาอย่างเหมาะสมในเวลาที่รวดเร็วเป็นหัวใจที่จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสหายขาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อสร้างการเข้าถึงบริการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงมีนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) โดยการให้ยาเคมีบำบัดเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการรักษาโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ มากกว่า 50% ของผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นต้องได้รับการรักษาชนิดนี้ กรมการแพทย์ จึงได้วางกรอบทิศทางการพัฒนาหน่วยงานให้มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม และการขยายผลนวัตกรรมที่มีอยู่ไปสู่ระบบสุขภาพ ซึ่งโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานีได้พัฒนาหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด และต้นแบบการส่งยาเคมีบำบัดไปสู่โรงพยาบาลใกล้เคียงในเขตสุขภาพที่ 8 (Chemotherapy Delivery Model)

4

เรืออากาศเอก สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กล่าวว่า รพ.มะเร็งอุดรธานี เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่พัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด (AYA Chemotherapy Compounding Robot) ซึ่งผ่านการศึกษาวิจัยในด้านความปลอดภัยและแม่นยำ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อบุคลากร รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

สำหรับหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด เริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่ปี 2562 ทดสอบระบบในปี 2564 และใช้งานจริงตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 เป็นต้นมา มีความแม่นยำสูง ถูกต้อง ปลอดภัย ทำงานด้วยแขนกล ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติในสภาวะปลอดเชื้อ ตามมาตรฐานการเตรียมยา ภายใต้การกำกับดูแลของเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ

"ปัจจุบัน รพ.มะเร็งอุดรธานี ได้ริเริ่มพัฒนาต้นแบบการส่งยาเคมีบำบัดด้วยหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด ไปยังโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. ที่สามารถขนส่งยาได้ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันภายในเขตสุขภาพ ในอนาคตสามารถลดการนำเข้าเครื่องมือราคาแพงของประเทศอย่างมาก และมีความสะดวกในการใช้งานมากกว่าเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศ" เรืออากาศเอก สมชาย กล่าว

ขณะเดียวกัน ยังได้ดำเนินการส่งยาเคมีบำบัดร่วมกับโรงพยาบาลหนองบัวลำภู ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 และมีการลงพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมขยายการบริการไปยังโรงพยาบาลเครือข่ายอื่นๆ ได้แก่ โรงพยาบาลหนองคาย โรงพยาบาลกุมภวาปี และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสำหรับผู้บริหาร ในการตัดสินใจกระจายเครื่องมือดังกล่าวไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม