ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมศักยภาพและความพร้อม “รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ให้บริการระดับตติยภูมิครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เตรียมเดินหน้าประชาสัมพันธ์ความพร้อมรองรับผู้ป่วย “สิทธิบัตรทอง” แล้ววันนี้ ยืนยันประชาชนรับบริการตามเกณฑ์ได้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด


เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมศักยภาพและความพร้อมในการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยมี ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ รศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะรักษาการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ร่วมให้การต้อนรับ

สำหรับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินการก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2553 เพื่อให้เป็นโรงเรียนแพทย์จัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษากลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์ รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์แก่พี่น้องประชาชนภาคใต้ตอนบน ภายใต้งบประมาณ 5,600 ล้านบาท พร้อมวางเป้าหมายเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ขนาด 750 เตียง ที่ให้บริการทางการแพทย์โดยใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง

ทั้งนี้ ปัจจุบันทางโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างในเฟสที่ 1 เสร็จสมบูรณ์ ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 3,023 ล้านบาท ในขนาด 426 เตียง บนพื้นที่กว่า 84,000 ตร.ม. พร้อมด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนใน จ.นครศรีธรรมราช และภาคใต้ตอนบน โดยเริ่มเปิดให้บริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2565 จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ารับบริการรวมแล้วกว่า 60,000 ราย เป็นสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ราว 40% ชำระเงินเอง 28% นักศึกษาและพนักงานมหาวิทยาลัย 25% ขณะที่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ราว 0.41%

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ที่เปิดใหม่ล่าสุดนี้ นับเป็นโรงเรียนแพทย์ที่จัดการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการเป็นโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ รักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นทั่วไป ไปจนถึงระดับตติยภูมิ ในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนและต้องใช้ความสามารถทางการแพทย์ขั้นสูง จึงเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพอย่างมากในการรองรับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา รวมไปถึงผู้ป่วยสิทธิบัตรทองของพื้นที่ภาคใต้ตอนบนทั้งหมด

นพ.จเด็จ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ เพิ่งเปิดให้บริการ จึงอาจยังไม่เป็นที่รับรู้ของประชาชนมากนัก ขณะเดียวกันด้วยความที่โรงพยาบาลแห่งนี้มีสถานที่โอ่อ่า สวยงาม คล้ายกับโรงพยาบาลเอกชน จึงทำให้บางครั้งอาจกลายเป็นข้อกังวลของประชาชน ที่กลัวว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่อย่างไร จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารไปถึงประชาชนให้ทราบว่า โรงพยาบาลแห่งนี้มีความพร้อมให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้ตามกติกาที่กำหนด โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

“ต้องเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่า รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมให้บริการคนไข้สิทธิบัตรทอง ได้ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการที่รับการส่งต่อทั่วไป ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลมีบุคลากรและเครื่องมือต่างๆ ที่มีความพร้อม สามารถเข้ามาร่วมแบ่งเบาภาระการให้บริการของโรงพยาบาลในพื้นที่นี้ได้เป็นจำนวนมาก โดยทาง สปสช. ได้ร่วมหารือกับทางมหาวิทยาลัย ในการจัดระบบให้คนไข้บัตรทองมีโอกาสเข้ารับบริการที่นี่ได้มากขึ้น โดยเบื้องต้นจะมีการประสานกับโรงพยาบาลโดยรอบที่มีความหนาแน่น หรือประสงค์ต้องการส่งต่อ ก็สามารถส่งคนไข้สิทธิบัตรทองมารับบริการที่นี่ได้” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของประชาชนสิทธิบัตรทองที่ประสงค์ต้องการย้ายสิทธิของตนมาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชันของ สปสช. หรือสายด่วน 1330 หรือติดต่อโรงพยาบาลได้เองโดยตรง ขณะเดียวกัน สปสช. ก็ได้มีการให้ความมั่นใจกับทางโรงพยาบาลถึงกระบวนการเบิกจ่ายของสิทธิบัตรทอง ที่ปัจจุบันใช้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จึงช่วยลดภาระในเรื่องของการส่งข้อมูล และมี สปสช.เขต ที่จะเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องของการเบิกจ่ายให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้โรงพยาบาลมั่นใจว่าจะได้รับค่าใช้จ่ายเพียงพอกับการให้บริการอย่างแน่นอน

ด้าน ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลแห่งนี้จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ให้ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึง รพ.สงขลานครินทร์ เพื่อเข้ารับการบริการขั้นสูง โดย รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขณะนี้มีความพร้อมทั้งในแง่ของกำลังคน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ที่บรรจุไปแล้วกว่า 70 อัตรา และอาจเพิ่มอีก 25 อัตราภายในปีนี้ ขณะที่บุคลากรด้านอื่นๆ ก็มีอีกกว่า 500 คน และจะเพิ่มเป็นถึงกว่า 700 คนภายในปีนี้ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ความพร้อมในแง่ของบริการ ยังมีไม่ว่าจะเป็นคลินิกรักษาโรคต่างๆ ที่เปิดบริการกว่า 15 คลินิก มีห้องผ่าตัดกว่า 10 ห้อง ห้องฉุกเฉิน (ไอซียู) กว่า 24 ห้อง เป็นต้น ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบครัน ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ ขนาด 114 เตียง ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิศรีธรรมราชา ที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2566 ซึ่งจะให้บริการด้านสุขภาพทั้งกับพระสงฆ์ รวมทั้งนักบวชศาสนาอื่นๆ ได้อีกด้วย

“ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้มีการทำข้อตกลงร่วมกับประชาชน รวมถึงหน่วยบริการในพื้นที่ใกล้เคียง ที่ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาอะไรก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ทั้งหมด ซึ่งโรงพยาบาลเรามีจุดเด่นมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่สะดวก มีการออกแบบใช้ระบบ Smart Hospital ตั้งแต่เริ่มต้น ประชาชนได้รับการรักษาโดยตรงจากอาจารย์แพทย์ และอีกสิ่งที่ต้องยืนยันให้ประชาชนมั่นใจ คือเราไม่ใช่โรงพยาบาลเอกชนราคาแพง ซึ่งตอนนี้มีคนเข้าใจผิดเนื่องด้วยความโออ่าสวยงามของสถานที่ จึงต้องยืนยันว่าความโอ่อ่าหรูหรานี้เป็นความตั้งใจที่เราอยากจะสร้างโรงพยาบาลดีๆ ให้กับประชาชนใช้ แต่อยู่ในราคาของโรงพยาบาลรัฐ” ศ.ดร.สมบัติ กล่าว

ศ.ดร.สมบัติ ยังกล่าวอีกว่า เนื่องด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลใหม่ ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงอยู่ระหว่างเรียนรู้และทำความเข้าใจในกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณจาก สปสช. เพื่อพัฒนาระบบต่างๆ ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด เพื่อสามารถให้บริการครอบคลุมตามสิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐเกือบทุกแห่งมีความแออัด ประชาชนต้องไปรอคอยเป็นเวลานาน แต่คนที่เข้ามารับบริการใน รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขณะนี้จะยังได้เปรียบจากบริการที่รวดเร็ว และไม่ต้องรอคอยนาน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw